รองโฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วน ร่วมขยายศักยภาพ "สายด่วนโควิด-19" เพื่อให้ผู้ป่วยจะได้เข้าถึงการรักษาทั่วถึงและรวดเร็ว

วันที่ 2 พ.ค. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินการขยายศักยภาพ การให้บริการสายด่วนโควิด-19 ทั้งในเรื่องความเพียงพอของบุคลากรและจำนวนคู่สาย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลที่สถานพยาบาลตามระดับอาการอย่างรวดเร็ว ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การบูรณาการทำงานมีดังนี้

1. กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงต้นได้เพิ่มจำนวนคนมาช่วยรับสาย โทร 1668 ซึ่งเป็นจิตอาสาทางการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 200 คน และต่อมามีการเพิ่มคู่สาย อีก 40 คู่สายโทร.02-079-1000 เพื่อเสริมศักยภาพในการประสาน รับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อไปศูนย์แรกรับอาคารนิมิบุตร

2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คัดนักเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมมาช่วยรับโทรศัพท์ 1668 และ 1669 เพื่อแก้ปัญหาคนไม่พอ

3. บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าปรับปรุงระบบ 1668 และเพิ่มคู่สายให้สามารถรองรับปริมาณการโทรจำนวนมาก

4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิด "ศูนย์ 191" รับแจ้งผู้ป่วยโควิด-19 แล้วส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานการแพทย์ ตลอด 24 ชม. รองรับ 1,200 คู่สายทั่วประเทศ

5. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานคู่ขนานกับสายด่วน 1668 ของกระทรวงสาธารณสุข และ 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 สอบถามข้อมูลการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และประสานหาเตียง

6. สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม. โทรสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ ซึ่งได้จัดระบบการรับสายใหม่และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รับสาย ขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาชนสามารถติดต่อสายด่วน 1668 หรือ 1330 ได้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อมีผู้รับเรื่องแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องโทรหมายเลขอื่นอีก เนื่องจาก ศูนย์เอราวัณจะเป็นศูนย์กลางในการจัดเตียง ขณะนี้ ทางศูนย์ฯ แจ้งว่า สามารถดำเนินการนำส่งผู้ป่วยได้แบบวันต่อวัน

...

“นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณ บุคลากรและอาสาสมัครทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ข้อบกพร่องใดๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้เร่งเข้าแก้ไข และสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้เกิดพัฒนางานบริการในทุกด้าน รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีงบประมาณเพียงพอต่อการเยียวยาดูแล และบรรเทาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ วงเงินมาจากจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน และงบกลางปีงบประมาณ 2564 โดยกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาออกมาตรการ ทั้งรูปแบบการเยียวยา และกระตุ้นใช้จ่าย” รองโฆษกฯ กล่าว