อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ รัฐบาลประยุทธ์ แก้โควิด-19 ล้มเหลวทุกด้าน จี้ รัฐบาลรับผิดชอบ ตอกย้ำ ทำนโยบายที่หาเสียงไม่ได้ สุดท้ายเป็นเพียงความว่างเปล่า เยียวยาล้มเหลว
วันที่ 2 พ.ค. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีวิกฤติเสถียรภาพรัฐบาล อันสืบเนื่องจากแผลในใจที่ขยายผล จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวบอำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมายต่างๆ 31 ฉบับ มาเป็นของนายกรัฐมนตรีแบบเบ็ดเสร็จ ว่า ผ่านมา 2 ปี รัฐบาลสืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 รัฐบาลล้มเหลวทุกด้าน ไม่มีทรง มีแต่ทรุด ที่พอประคับประคองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้วิกฤติหนักไปกว่านี้ ก็ด้วยระบบสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ ความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ความร่วมมือร่วมใจของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ถนัดใช้แต่อำนาจพิเศษ ก็เลยใช้หน่วยงานด้านความมั่นคง นำการสาธารณสุขในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนล้มเหลว สับสน ไร้ประสิทธิภาพ ไฟลนก้น ประชาชนหมดความอดทนกับ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารจัดการโควิดล้มเหลว ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาด เตียงผู้ป่วยไม่พอ วัคซีนมาไม่ทันการณ์
“รัฐบาลล้มเหลวทุกด้าน ทั้งไวรัสโรคระบาด และไวรัสเสถียรถาพรัฐบาลวิกฤติพร้อมกัน หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ลุกออกจากการนั่งทับปัญหา เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติประเทศ” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึง ความล้มเหลวในนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาล ว่า น่าตกใจที่ผ่านมา 2 ปีกว่า นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ ใช้หาเสียงและแถลงไว้ไม่สามารถผลักดันหรือทำสำเร็จได้ ถือเป็นการตระบัดสัตย์ หลอกลวง เพื่อหวังผลคะแนนหรือไม่ ตอนหาเสียงบอกว่า จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425บาท/วัน เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น 20,000 บาท/เดือน เงินเดือนอาชีวะ 18,000 บาท/เดือน เป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่า ล้มเหลวทุกด้าน ไม่สามารถทำได้จริง
พรรคเพื่อไทยเคยเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน 4 ข้อ คือ
...
1. กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร ให้เยียวยาแบบแบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
2. มาตรการคงการจ้างงาน สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันได 50-60% ตามโซนความรุนแรง เป็นระยะเวลา 6 เดือน ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างผ่านผู้ประกอบการไปที่ลูกจ้าง เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน
3. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ สำหรับเอกชนที่สามารถจ้างงานเพิ่มกว่าจำนวนเดิม เพื่อสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มเติมจากเอกชนที่มีกำลัง
4. เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีผู้ตกงานจำนวนมาก เสนอให้จัดตั้งแพลตฟอร์มกลางเพื่อการจ้างงานในภาวะวิกฤติขนาดใหญ่ จับคู่ความต้องการ นายจ้าง-ลูกจ้าง ผ่านระบบ AI โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสองฝ่าย
จนถึงวันนี้มีข้อเสนอข้อใดที่รัฐบาลนำไปพิจารณาดำเนินการบ้างหรือไม่ การเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจให้เอาตัวรอดจากวิกฤติโควิด-19 ได้เลย
“นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ กลายเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า ไม่มีความจริงใจ จริงจัง ในการผลักดัน นำไปสู่การปฏิบัติ แม้แต่นโยบายที่ตัวเองหาเสียงไว้ยังไม่ทำ แล้วอย่างอื่นประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะทำได้” นายอนุสรณ์ กล่าว