“ยิ่งลักษณ์” ส่งกำลังใจถึงผู้ใช้แรงงานผ่านพ้นความยากลำบากสถานการณ์โควิด-19 ขอทุกคนอดทนสู้ต่อ แนะรัฐใช้โอกาสพัฒนาศักยภาพแรงงาน
วันที่ 1 พ.ค. 2564 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กในวันแรงงานแห่งชาติ และวันแรงงานสากล ว่า วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล ทำให้อดคิดถึงพี่น้องแรงงานไม่ได้ วันนี้เป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมาเรียกร้องสิทธิและคุณภาพชีวิตของพวกเขาที่เป็นฟันเฟืองให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า ทำให้อยากเห็นการพัฒนาแรงงานของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เพราะจากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า แรงงานกว่า 75 ล้านคนทั่วโลกใน 20 อุตสาหกรรม จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีภายในปี 2020 ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี จะสร้างงานใหม่ถึง 133 ล้านอัตราภายในปี 2022
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุต่อไปว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานถูกเลิกจ้าง นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ จึงว่าเห็นรัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้พัฒนาศักยภาพแรงงาน (Upskill / Reskill) ให้เป็นแรงงานที่มีความเข้าใจเทคโนโลยี เช่น แรงงานในภาคบริการ ควรส่งเสริมการใช้ทักษะด้านความเข้าใจเรื่องความต้องการของผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่บริการที่รู้ใจ และมีความเข้าใจที่จะเสนอบริการมากขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นนักบริการมืออาชีพที่ใช้ทักษะสูงขึ้น เช่น ลูกค้าสัมพันธ์ การตลาด อบรมพัฒนา ส่วนแรงงานในภาคการเกษตร ต้องมีความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเกษตรมากขึ้น มีความรู้ในการวิเคราะห์ผลผลิต ต้นทุน และการคาดการตลาดล่วงหน้า เพื่อการเกษตรที่แม่นยำ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องสร้างบุคลากรด้านนักวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้าใจการทำงานของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ เราจะเป็นผู้กำหนด หรือใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน รัฐยังต้องพัฒนาแรงงานที่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ การวิเคราะห์ฐานข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า สมองกล เครื่องจักร หุ่นยนต์ บล็อกเชน สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้กำลังจะเกิด แต่ได้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างไรเพื่อให้ทันต่อโลก
...
“ขอส่งกำลังใจให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ไปได้ด้วยกันค่ะ โดยเฉพาะหลายชีวิตที่ไม่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ อย่างคุณแม่ที่ต้องทำทั้งงานในบ้าน ดูแลลูก และงานนอกบ้านไปด้วย ต้องเดินทางออกจากบ้านไปด้วยขนส่งสาธารณะ เพื่อหารายได้ประทังครอบครัว ทำให้มีความเสี่ยงสัมผัสกับเชื้อโรคได้ตลอดเวลา แม้รายได้ที่ได้รับยังคงชักหน้าไม่ถึงหลังเมื่อเทียบกับรายจ่าย แต่ขอให้ทุกท่านอย่าย่อท้อต่อการแสวงหาโอกาสให้กับชีวิต และไม่หยุดที่จะฝึกฝน และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับตนเองตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ของเราในอนาคตต่อไป เพราะเราทุกคนต้องมีความหวังค่ะ ให้ทุกท่านอดทน ต้องสู้ต่อไป อย่าเพิ่งท้อถอย แล้วเราจะผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกันนะคะ”