“สุดารัตน์” จี้รัฐบาลแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วย และหาผู้ติดเชื้อให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ก่อนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว แนะตรวจโควิดเชิงรุกให้ประชาชน 1 ล้านคน
วันที่ 24 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ว่า ตัวเลขที่น่าห่วงใยคือ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตที่มากกว่าในช่วงการระบาดที่ผ่านมา ทั้งที่เชื้อตัวใหม่ที่ระบาดในรอบนี้ติดง่าย แต่อาการไม่หนัก แล้วทำไมแค่ 24 วันนี้จึงมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 35 ราย จากยอดสะสมรวมตั้งแต่ปีที่แล้วเป็น 129 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตพุ่ง เป็นเพราะประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่มีปัญหา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ ประชาชนธรรมดาที่ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง ทำให้มีผู้ติดเชื้ออยู่ภายนอกมาก หลายคนไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อได้ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว แต่โรงพยาบาลไม่มีเตียง ให้กลับไปเฝ้าดูอาการที่บ้าน ก็ไปแพร่เชื้อให้คนที่บ้าน ทั้งหมดเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการทั้งสิ้น
จึงขอเสนอให้เร่งแก้ไขทั้งในเรื่องเตียงและการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ มิเช่นนั้นเราจะต้องเจอกับสภาวะผู้ป่วยหนักล้น จนระบบสาธารณสุขเรารับไม่ไหว ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น เครื่องช่วยหายใจไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็จะต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น พร้อมแนะนำให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนดังต่อไปนี้
1. ต้องกระจายงบประมาณและอำนาจ จากส่วนกลางไปให้ทุกโรงพยาบาลทุกสังกัดอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้บริหารโรงพยาบาลมีงบประมาณที่จะบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ เช่น เตียงไม่พอ ผู้บริหารโรงพยาบาลจะได้มีงบประมาณไปเช่าโรงแรม ทำเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว (Hospitel) ได้ทันที ไม่ต้องรอส่วนกลางทำเตียงสนามที่สภาพไม่เหมาะสมให้เป็นที่พักรักษา เพื่อนำผู้ติดเชื้อที่มีอาการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ มีอาการน้อย ไปอยู่ใน Hospitel
...
2. ทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ง่าย และฟรี โดยแก้ไขระบบงบประมาณและระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายค่าตรวจโควิด-19 รายละ 1,600 บาท แต่กฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลยุ่งยากมาก จึงขอเสนอรัฐบาลให้เร่งตรวจเชิงรุกให้ประชาชน ตั้งเป้า 1 ล้านคน ซึ่งจะใช้เงินเพียง 1,600 ล้านบาท คุ้มยิ่งกว่าคุ้มกับชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจที่เสียไป เพียงไตรมาสเดียวที่สูงถึง 4.5 แสนล้าน (ตามตัวเลขของ ม.หอการค้า)
3. เร่งจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในขณะนี้ทุกคนกำลังทำงานอย่างหนัก และเป็นผู้ที่เสี่ยงที่สุด โปรดดูแลหัวใจของบุคลากรทุกท่านอย่างเร่งด่วน
“ขอให้เร่งดำเนินการตามที่เสนอ ก่อนที่สถานการณ์ในสัปดาห์หน้าจะวิกฤติมากขึ้น จนระบบสาธารณสุขของเรารองรับไม่เพียงพอ”