แม้เทศกาลสงกรานต์ 2564 จะเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ห้ามประชาชนเล่นน้ำหรือสาดน้ำ ปิดสถานบันเทิงทุกแห่งใน 41 จังหวัด มีคนเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อเยี่ยมเยือนพ่อแม่พี่น้องน้อยมาก แต่เทศกาลหยุดยาวช่วงมหาสงกรานต์ของประเทศไทย ก็ยังสามารถรักษาชื่อ เป็นเทศกาลแห่งอุบัติเหตุและความตาย

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รายงานว่า ระหว่างวันที่ 10 ถึง 13 เมษายน รวม 4 วันในช่วง วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 1,465 ครั้ง เสียชีวิต 152 คน บาดเจ็บ 1,494 คน สาเหตุสูงสุดคือเมาแล้วขับ ตามด้วยการขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่รถจักรยานยนต์เจ้าเก่า

แค่ 4 วันแรกในช่วง 7 วันอันตราย มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถูกจับกุมดำเนินคดี 70,130 คน ฐานไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 18,950 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนกรณีที่มีการเสียชีวิต เป็นคดีเมาสุราแล้วขับ 159 คดี คิดเป็น 99.38% เป็นการเสียชีวิตที่สูงกว่าโควิดหลายเท่า ที่มีการเสียชีวิตเพียง 97 ราย

97 ราย คือการเสียชีวิตจากโควิดที่แพร่ระบาดถึง 3 ระลอก ประเทศไทยจึงยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับต้นๆของโลก และเป็นแชมป์ของเอเชีย เป็นตำแหน่งที่คนไทยไม่ภูมิใจ แต่กลายเป็นโศกนาฏกรรมประจำปี ในช่วงเทศกาลหยุดยาว ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อคนไทยในชนบทจากทุกภาคทั่วประเทศ หลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยว คนเหล่านี้ต้องกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด กลายเป็นเทศกาลหยุดยาวประจำปี

เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆจำนวนมาก ผสมผสานกับการดื่มสุราเมรัย เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง กลายเป็นความประมาทเลินเล่อ และเป็นที่มาของอุบัติเหตุ นำมาซึ่งการบาดเจ็บและล้มตาย เทศกาลแห่งความสุขและความรื่นเริง กลายเป็นเทศกาลแห่งความเศร้า และเทศกาลแห่งความตาย

...

การดื่มเพื่อความรื่นเริง และการ เมาแล้วขับ กลายเป็น “วัฒนธรรม” เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อๆกันมา การป้องกันหรือแก้ไขปัญหา จึงไม่ใช่เพียงการปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่อาจต้อง “ปฏิรูป” วัฒนธรรม ไม่ยอมรับการเมาแล้วขับโดยเด็ดขาด.