“อนุทิน” แจงยิบ ไม่มีชื่อในคณะทำงานจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่นายกฯ ตั้งขึ้น พร้อมแจงเหตุผลไม่ซื้อสำรองไว้มากๆ ลั่น ไม่เคยนำเรื่องสุขภาพและชีวิตประชาชนมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวานนี้ (11 เม.ย. 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก กรณีข่าวว่านายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยไม่มี รมว.สาธารณสุข รวมอยู่ด้วย แล้ววิเคราะห์กันว่าเป็นความขัดแย้งในรัฐบาล หรือไม่ไว้ใจให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ จึงตั้งคณะทำงานมาทำหน้าที่แทนกระทรวงสาธารณสุขนั้น

ขอชี้แจงว่า คณะทำงานนี้ประกอบด้วย ฝ่ายวิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข สามารถระดมความร่วมมือจากทุกส่วนราชการและภาคเอกชนได้มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการหน่วยงานเดียว จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศ รูปแบบการทำงานในขณะนี้เป็นการร่วมมือกันทำงาน ช่วยกันทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่การแย่งงานกันทำ แต่เป็นการแบ่งงานกันทำ คณะทำงานฯ ทำหน้าที่วางแนวทางมาตรการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมมาให้บริการประชาชน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่จัดซื้อวัคซีนและบริหารจัดการวัคซีนไปให้ถึงประชาชนเร็วที่สุด โดยมีสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนตามแผนที่กรมควบคุมโรคจัดทำไว้ ซึ่งคาดว่าจะฉีดให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้ครบถ้วนภายในเดือน ต.ค.นี้

...

นายอนุทิน ระบุต่อไปว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส ขณะนี้มาถึงไทยแล้ว 2.117 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป จะมีวัคซีนให้บริการประชาชนเดือนละ 5-10 ล้านโดส จนครบตามจำนวนที่สั่งซื้อไว้คือ 63 ล้านโดส สามารถฉีดให้ประชาชน 31.5 ล้านคน ขณะที่ในทางวิชาการเราต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 40 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรทั้งประเทศ และชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง

ดังนั้นในปีนี้จะต้องใช้วัคซีน 80 ล้านโดส จึงต้องสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีกประมาณ 17 ล้านโดส และอีกจำนวนหนึ่งสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นภารกิจของคณะทำงานฯ มีเกร็ดเล็กๆ แต่มีความหมายมาก สำหรับการบริหารวัคซีนแอสตราเซเนกาที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อมา 61 ล้านโดส ผู้ผลิตใส่ขวดละ 6.5 ซีซี มาให้ จำนวน 6.1 ล้านขวด ซึ่งทีมแพทย์และพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขสามารถฉีดให้ผู้รับวัคซีนได้ ขวดละ 12 โดส มากกว่าที่กำหนดไว้ถึง 2 โดสต่อขวด หากจัดการให้ดีจะฉีดให้ประชาชนได้เพิ่มขึ้น 12.2 ล้านโดส หรือ 6.1 ล้านคน ถ้าทำได้ตามที่เตรียมการและซักซ้อมกันไว้ วัคซีนที่สั่งซื้อไว้แล้วจะครอบคลุมประชากรที่ต้องรับวัคซีนได้เกือบทั้งหมด ขาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากทำได้ตามนี้จะเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุขนับแต่นี้ไปจึงเป็นการบริหารจัดการกระจายวัคซีน 63 ล้านโดส ไปฉีดให้แก่ประชาชนในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัดของประเทศตามแผนควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้สั่งการให้ทุกสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ฉีดได้เสร็จก่อนเวลาที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือสถานพยาบาลของทุกหน่วยงานภาครัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ช่วยกันฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนด้วย วัคซีนโควิด-19 จำนวน 63 ล้านโดส ที่สั่งซื้อมาแล้วเป็นวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อมาด้วยงบประมาณแผ่นดินเพื่อฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และหากมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ถึงแม้ว่าผู้ผลิตวัคซีนจะไม่รับผิดชอบ เพราะเป็นการฉีดวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขประเมินเบื้องต้นแล้วว่าการสั่งซื้อวัคซีน 63 ล้านโดส ในขณะนี้เพียงพอที่จะให้บริการคนไทย หากจะขาดก็เพียงไม่มากนัก และพยายามจัดซื้อมาตลอด แต่ยังจัดซื้อเพิ่มเติมไม่ได้เพราะผู้ผลิตวัคซีนยังผลิตได้ไม่ทันกับคำสั่งซื้อที่ทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการมากกว่ากำลังผลิตหลายเท่าตัว กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานฯ เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทยทั้งระบบมีประสิทธิภาพและเพียงพอกับบริการประชาชนคนไทยและคนต่างชาติทุกคนที่อยู่ในไทย ตามปรัชญาการควบคุมโรค ที่องค์การอนามัยโลก บอกว่า “ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครจะปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” หมายความว่าเราต้องทำให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยและจะต้องได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยไม่เลือกสัญชาติใดๆ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังขอชี้แจงสาระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวที่มีการใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นวัคซีนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้ไปศึกษาไป รายงานผลกันไป ยังไม่ใช่วัคซีนที่สมบูรณ์เหมือนวัคซีนอื่นๆ และวัคซีนมีอายุใช้งานเพียง 6 เดือนเท่านั้น เป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขไม่จัดซื้อมาสำรองเป็นจำนวนมาก เพราะหากฉีดไม่ทันจะสิ้นเปลืองงบประมาณ และหากเชื้อโรคกลายพันธุ์ต้องใช้วัคซีนใหม่ก็จะต้องซื้อวัคซีนใหม่ โดยที่วัคซีนเดิมใช้ไม่หมดและใช้ไม่ได้ จะเป็นการสูญเสียงบประมาณอีก

“ขอเรียนว่าในคณะทำงานฯ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขหลายท่านเป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นคณะทำงานฯ แล้ว ผมได้ให้นโยบายทุกท่านสนับสนุน ร่วมมือกับคณะทำงานฯ เพื่อการกำหนดมาตรการ และแนวทางการจัดหาวัคซีน เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับแรก ขอความกรุณาอย่ามองทุกเรื่องเป็นการเมือง เป็นความขัดแย้ง ผมไม่เคยนำเรื่องสุขภาพและชีวิตของประชาชนมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง และไม่เคยคิดเอาการเมืองมาใส่ในสถานการณ์โรคระบาด ผมสนับสนุนการทำงานของทุกคน ทุกหน่วย ทุกฝ่าย เพื่อที่จะนำพาประชาชนและประเทศไทยผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ด้วยความปลอดภัย”.