พรรคพลังประชารัฐเปิดเผยตัวตนอันแท้จริงต่อหน้าประชาชนทั้งประเทศ มีจุดยืนหรืออุดมการณ์อย่างไร ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 มาตรา รวม 5 ประเด็น โดยยืนยันเด็ดขาดจะไม่ยอมแก้ไขประเด็นอื่นๆที่ต่างไปจาก 5 ประเด็น เช่น ไม่แตะต้องอำนาจ ส.ว. หรือกลไกในการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

5 ประเด็นที่ พปชร.ซึ่งเป็นแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาลขอแก้ไข ได้แก่ มาตรา 29, 41 และ 45 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ประเด็น ที่ 2 ขอแก้ไขหลายมาตราที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เปลี่ยนจากการใช้บัตรใบเดียว เป็น 2 ใบ เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 ประเด็นที่ 3 แก้ไขมาตรา 144 และใช้ ม.168 ของฉบับ 2550 แทน

ประเด็นที่ 4 แก้ไขมาตรา 185 ที่ห้าม ส.ส.หรือ ส.ว. กระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ แก้ไขเป็นให้ ส.ส. ติดต่อส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ ประเด็นนี้ถ้าแก้ไขสำเร็จ น่าเป็นห่วงว่าอาจทำให้ ส.ส.ขี้กร่าง มีความกร่างกับข้าราชการยิ่งขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่ขอแก้ไข คือมาตรา 270 เปลี่ยนจากที่ให้ ส.ว.กำกับและการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยให้ ส.ส.รวมด้วย แต่ยังยืนยันให้ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. มีอำนาจเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี สืบทอดอำนาจต่อไป

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่สุดในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเสร็จมากที่สุด เพราะมี 250 ส.ว.เป็นพันธมิตร แกนนำ พปชร.คุยว่าเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมมากสุด แต่เมื่อตัดสินใจแก้ไขกฎหมายสูงสุด ทำไมจึงเลือกแต่ประเด็นจิ๊บจ๊อย มีประเด็นเดียวที่ อาจมี ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วย คือการแก้ วิธีเลือกตั้ง

พรรค พปชร.อาจอ้างได้ว่า ได้ขอแก้ไขหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ประชาชนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ คือให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือในด้านกฎหมาย ถ้าฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น สมกับที่ศาลรัฐธรรมนูญยกให้เป็น “ผู้นำอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”

...

ผู้มีอำนาจตัวจริงคือใคร อาจพิสูจน์ได้จากการแก้ไขครั้งนี้ แกนนำพรรค พปชร.คุยว่าจะแก้ไขสำเร็จ เข้าสู่วาระที่ 3 ภายในปลายเดือนกรกฎาคม อาจเพราะเชื่อมั่นว่าจะไม่มี 84 ส.ว.ขัดขวาง เพราะไม่ได้กระทบอำนาจ ส.ว.นี่คือบทพิสูจน์ว่าอำนาจการสถาปนา หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มิใช่ประชาชน แต่คือองค์กรสืบทอดอำนาจ.