การตามล่าสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ของกองทัพพม่า ไม่น่าจะเป็นเพียง “กิจการภายในประเทศ” ที่กฎบัตรอาเซียนห้ามประเทศอื่นๆ ไม่ให้ “แทรกแซง” แต่ถึงวันนี้ชาวพม่าที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการด้วยมือเปล่าๆได้สังเวยด้วยชีวิตเกิน 500 ศพแล้ว อาจลุกลามบานปลายกลายเป็น “สงครามกลางเมือง”

เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพ ที่ใช้อาวุธสงครามเข่นฆ่าประชาชนของตนเอง และมีสัญญาณส่อแสดงว่าอาจขยายการต่อสู้เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่กว่า 20 กลุ่ม มีกลุ่มที่ประกาศจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน และต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างน้อย 4 กลุ่ม

ท่ามกลางเหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ รัฐบาลไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด วางตัวอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยืนยันไม่ได้สนับสนุนคณะรัฐประหารพม่า แม้ว่าในพิธีสวนสนามฉลองวันกองทัพพม่าที่ผ่านมา ไทยเป็นเพียง 8 ประเทศ ในกว่าร้อยๆประเทศ ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วม

จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่งผู้แทนเข้าร่วมวันกองทัพพม่าเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และเวียดนาม และในวันนั้น กองทัพพม่าได้แสดงแสนยานุภาพ ด้วยการเข่นฆ่าประชาชนอย่างน้อย 114 ศพ วันกองทัพกลายเป็นวันที่นองเลือดที่สุด ประเทศที่เข้าร่วมพิธี เท่ากับเป็นการรับรองรัฐบาลคณะรัฐประหารใช่หรือไม่

ประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วม ในวันกองทัพพม่า เท่ากับว่าสนับสนุนนโยบายการใช้ความรุนแรงของกองทัพพม่าใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธไม่ได้สนับสนุน แต่ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมเพื่อดำรงไว้ซึ่งช่องทางของการสื่อสาร ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะยึดตามหลักการของอาเซียน ไม่แทรกแซงกิจการภายในพม่า

...

แต่นักวิชาการด้านต่างประเทศชี้ว่า แรกเริ่มเดิมทีที่ตั้งอาเซียน เมื่อหลายทศวรรษก่อน ทุกประเทศยึดหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น” จริง แต่ขณะนี้กฎบัตรอาเซียนที่แก้ไขใหม่ ให้รวมทั้งการปกป้องระบอบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ประเทศที่ใช้ความรุนแรง หมดสิทธิ์ที่จะอ้างหลักการห้ามแทรกแซง

หลักการห้ามแทรกแซงกิจการภายใน อาจเปรียบเทียบได้กับการไม่สอดแทรก เมื่อผัวเมียข้างบ้านทะเลาะกัน แต่ถ้าถึงกับฆ่ากันอาจต้องยุ่งเกี่ยว ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสถานการณ์ในพม่าขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องภายในประเทศอีกต่อไป แต่เป็นการใช้ความรุนแรงถึงขั้น “ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” อาจมีผู้ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาโลก.