ครม. เห็นชอบชะลอขยายเกษียณอายุราชการ จาก 60 เป็น 63 ปี เหตุงบประมาณจำกัด ควรจ้างงานกลุ่มเปราะบางก่อน หลังโควิด-19 คลี่คลายค่อยพิจารณาใหม่

วันที่ 2 มี.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงในช่วงหนึ่งภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องชะลอการขยายเกษียณอายุราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี สืบเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 20% ของประชาชนทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 30% จึงมีความจำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆ จะต้องมีแผนการรองรับ

ในส่วนของข้าราชการพลเรือน ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องการบริหารบุคลากรภาครัฐ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการขยายอายุเกษียณราชการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ศึกษามาแล้วระยะหนึ่ง เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐมีงานทำหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่างๆ อย่างเหมาะสม

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล

...

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนวทางหนึ่งคือ น่าจะขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปีเป็น 63 ปี ที่ผ่านมา ทาง ก.พ. ได้รับรายงานและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภา เสนอเรื่องการจ้างข้าราชการหลังเกษียณอายุ 60 ปี เมื่อทาง ก.พ. ได้รับข้อเสนอแล้วนำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้อสรุป ดังนี้

1. ครม. เห็นชอบการชะลอการขยายเกษียณอายุราชการแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบบการคลังและงบประมาณของรัฐบาล จึงต้องชะลอไปก่อน โดยเห็นว่าควรจ่ายงบประมาณที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อสามารถจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว ค่อยนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่

2. ครม. เห็นด้วยกับการจ้างงานเพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกที่หลากหลายในการจ้างงานข้าราชการที่เกษียณอายุราชการควบคู่ไปกับมาตรการการขยายอายุเกษียณ แต่จะต้องพิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการบุคลากรในแต่ละตำแหน่ง/สาขา เช่น ตำแหน่งที่กำลังขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ หรือให้พิจารณาในรูปแบบอื่น อาทิ จ้างข้าราชการเกษียณในกรณีจ้างเหมาบริการหรือการรับงานไปทำที่บ้าน

3. การศึกษาเพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบมีการเตรียมความพร้อม และวิเคราะห์ข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม หลัง ครม. เห็นชอบข้อสรุปจะนำไปปฏิบัติและเสนอทางวุฒิสภาทราบต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกำชับด้วยว่าความสำคัญของการบริการบุคลากรภาครัฐจะต้องมองในภาพรวม ต้องพิจารณาเรื่องการลดกำลังคน การส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ การจ้างงานข้าราชการเกษียณที่มีศักยภาพในตำแหน่งที่ขาดแคลน และการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย พร้อมย้ำต้องดูให้ครบทุกมิติ.