ผ่านไปเรียบร้อยดี การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในประเทศไทย เมื่อเวลา 07.30 น. วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร เป็น วัคซีนซิโนแวค ของจีน โดยมี คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข ฉีดเป็นคนแรก ตามด้วย คุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข คุณอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม คุณกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ถือเป็น “หน่วยกล้าตาย” ในการฉีดวัคซีนกลุ่มแรกตามที่ คุณอนุทิน ให้สัมภาษณ์

ผมขอชื่นชม หน่วยกล้าตายกลุ่มแรก ที่ ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีข่าวมาตลอด จะเป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก อุตส่าห์ไปตัดลอต วัคซีนแอสตราเซเนกา จากประเทศอื่นมาได้ถึง 117,600 โดส มาถึงไทยไล่หลัง วัคซีนซิโนแวค ไม่กี่ชั่วโมง แต่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นคนแรก อดเป็นฮีโร่ ได้แต่ไปดู รองนายกฯ อนุทิน รับบทฮีโร่ฉีดเป็นคนแรก

คุณนัทรียา ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโฆษกรัฐบาล แถลงในช่วงบ่ายวันเสาร์ว่า การฉีดวัคซีนของนายกฯ ตามที่มีข่าวนั้น ยืนยันยังไม่มีกำหนดการไปฉีดวัคซีน โดยอ้างว่า กรมควบคุมโรคเป็นผู้แจ้งขอเลื่อนมายังทำเนียบรัฐบาล เนื่องจาก วัคซีนแอสตราเซเนกาลอตนี้ตัดยอดนำเข้ามาจากเกาหลีใต้ จึงยังไม่มีเอกสารรับรองเป็นทางการ อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ได้ฟังคำแถลงของสำนักโฆษกรัฐบาลแล้วก็ชวนสงสัย รัฐบาลไปฉีดวัคซีนลอตนี้มาจากใคร? ซื้อมาราคาเท่าไหร่? ทำไมไม่มีเอกสารรับรองจากแอสตราเซเนกา?

การกำหนด ให้นายกฯฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 คนแรก เป็นการสื่อสารที่สำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทุกกลุ่ม แต่การแจ้งยกเลิกการฉีดวัคซีนของนายกฯอย่างกะทันหัน ก่อนเวลาฉีดไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน วันก่อนก็มีข้อมูลจากกลุ่มไลน์ เป็นเกร็ดความรู้จาก สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า “บุคลากรทางการแพทย์ไทยเพียง 55% ยินดีรับวัคซีนโควิด-19” ผมตรวจสอบแล้วเป็นข้อมูลในสวนดุสิตโพลจริง ขนาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เรื่องวัคซีนยังยอมรับการฉีดวัคซีนเพียง 55% แล้วประชาชนจะกล้าฉีดวัคซีนสักกี่เปอร์เซ็นต์

...

ถือเป็น การบ้านข้อใหญ่ ของ กระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องให้ ความรู้แก่ประชาชน

สายๆวันอาทิตย์ก็มีข่าวจาก บริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศไทย ทำหนังสือชี้แจงว่า แม้วัคซีนจะได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว แต่การนำออกใช้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการยืนยันคุณภาพครบถ้วนทุกขั้นตอน ตามกำหนดการ วัคซีนแอสตราเซเนกาชุดนี้ จะผ่านขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมศกนี้ ขณะนี้แอสตราเซเนกากำลังทำงานร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างแข็งขันเพื่อประชาชนชาวไทย เพื่อให้นำวัคซีนออกมาใช้ทันทีเมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพแล้ว

ยิ่งชี้แจงก็ยิ่งน่าสงสัย ทำไมวัคซีนแอสตราเซเนกาซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. เมื่อนำเข้ามาแล้วบริษัทยังต้องใช้เวลาตรวจสอบคุณภาพวัคซีนอีกถึง 2 สัปดาห์กว่า (เข้ามา 24 ก.พ. ตรวจสอบคุณภาพเสร็จในสัปดาห์ที่ 2 ของ มี.ค.) ทำไมวัคซีนซิโนแวคที่เข้ามาวันเดียวกันกับวัคซีนแอสตราเซเนกา จึงสามารถฉีดได้ในเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มาตรฐานคุณภาพวัคซีนสองยี่ห้อแตกต่างกันมากมายขนาดนี้เชียวหรือ

เป็นการบ้านอีกข้อที่ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีสาธารณสุข ควรแถลงความจริงให้กระจ่าง รวมทั้งข้อสงสัย ทำไมไทยยังไม่สั่งซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้ได้ 70% ของประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เหมือนประเทศอื่น มีอะไรในกอไผ่หรือ?

“ลม เปลี่ยนทิศ”