ปมปัญหา “ศึกเมียหลวงเมียน้อย” ดูเหมือนกลับมา เป็นประเด็น “ร้อนยอดฮิต” มากเหลือเกินในช่วงนี้ที่มักมีเหตุทะเลาะตบตี หรือโพสต์ข้อความประจานด่ากันผ่านโซเชียลฯ ให้เห็นบ่อยแทบทุกวัน

ปัญหานี้เกิดมาแทบ “ทุกยุคสมัย” เสมือนอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน สังเกตจากในอดีตมักเอื้อให้ “ฝ่ายชายมีเมียหลายคน” แสดงถึงฐานะทางสังคม กลายเป็นค่านิยมสืบทอดกันมามากขึ้นเรื่อยๆ

มาถึงยุคสมัยนี้ “คนรุ่นใหม่” มีค่านิยมใหม่ “ผู้ชายใด” จีบสาวได้แฟนเยอะมีความสัมพันธ์กับหญิงหลายคน กลายเป็น “สิ่งน่ายกย่องภูมิใจ” แม้แต่ “ฝ่ายหญิง” ยังมีค่านิยม “การล่าแต้ม” เช่นกันด้วยซ้ำ

กรณีดังสนั่นโซเชียล “ตำรวจมีเมียอยู่แล้ว” แอบเข้าพิธีมงคลสมรสกับ “หญิงอื่น” กระทั่ง “เมียหลวงถือทะเบียนสมรส” โผล่กลางงานวิวาห์ถามความรับผิดชอบจาก “สามี” อยู่กินกันมา 16 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน และอีกคู่ “เมียหลวง” ออกมาขอความเป็นธรรมจาก “สามีเป็นทหาร” ไปแต่งงานใหม่ อ้างไม่ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตร

เกิดกระแสวิจารณ์โด่งดังต้องถูก “ลงโทษทางวินัย” ในความผิดไม่ปฏิบัติอยู่ในกรอบข้าราชการที่ดี

เจาะลึกถึงหลักสำคัญ “การนอกใจไปมีชู้” มักมาจาก “นิสัยส่วนตัวตอบสนองอารมณ์ล้วนๆ” ทำให้ปล่อยตัวปล่อยใจ “ขาดความยับยั้งชั่งใจ” พ่ายแพ้กิเลสตัณหาตน แต่เรื่องนี้ “ตบมือข้างเดียว” ย่อมไม่ดังได้

...

ส่วน “ผู้หญิงยอมเป็นเมียน้อย” มีหลักใหญ่เกี่ยวกับ “เรื่องเงินๆทองๆ” ต้องการความสบายไม่อยากทำงานหนัก “ขาดความละอายยับยั้งชั่งใจ” แต่มักยกสารพัดข้ออ้างมากลบเกลื่อนการกระทำตนเอง

ลักษณะการประพฤติตนนอกใจไปมีชู้เช่นนี้ “ในทางกฎหมาย” ถือเป็นการประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรงที่สุด “คมเพชญ จันปุ่ม” หรือ “ทนายอ๊อด” ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน กางข้อกฎหมายอธิบายอย่างนี้ว่า การแต่งงานเป็นประเพณีจัดขึ้นมาตั้งแต่ “สมัยโบราณ” ที่เป็นพิธีดีงามแสดงถึง “ความรัก” ในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกัน

แสดงถึง “ความรักฝ่ายชายมีต่อฝ่ายหญิง” ทำให้ถูกต้องตามประเพณีดั้งเดิมสืบทอดต่อกันมา เมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกันแล้วก็มัก “เกิดความไม่เข้าใจกัน” บานปลายเป็นความแย้งเกี่ยวกับ “ทรัพย์สิน” ที่ไม่มีการแบ่งสินสมรสระหว่างของสามี หรือภรรยา ทำให้ต้องนำ “กฎหมาย” เข้ามายุติปัญหาครอบครัวนี้

และถูกนำมา “บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว” อ้างอิงหลักศีลธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหมั้น การสมรส การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีและภรรยา การปกครองบุตร ทรัพย์สิน ตลอดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมรดกต่างๆตามมา...

นับแต่นั้น “การสมรส” ถูกต้องตามกฎหมายได้ต้อง “จดทะเบียนสมรส” มิเช่นนั้นกลายเป็น “เมียนอกสมรส” แทบไม่มีสิทธิในทรัพย์สินคู่สมรสด้วยซ้ำ เว้นแต่มีการเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกนั้นไว้

ย้อนสมัยราว 20-30 ปีก่อน “การจดทะเบียนสมรสซ้อน” สามารถทำกันได้ง่ายมาก เพราะ “ระบบจดทะเบียนแบบเก่า” มักเป็นเอกสารราชการเก็บไว้ในแฟ้ม ซึ่งไม่มีเทคโนโลยี “ออนไลน์” ทันสมัยเท่ายุคนี้ที่สามารถตรวจสอบ “เลขบัตรประชาชน” ไม่กี่นาทีก็ทราบผล ทำให้เป็นปัจจัยเกิดการจดทะเบียนสมรสซ้อนขึ้นมากมายตามมา

คราวนั้น “ผู้จดทะเบียนสมรสซ้อน” มักมีเฉพาะ “กลุ่มผู้มีฐานะดี” ที่มีศักยภาพสามารถเลี้ยงดู “ฝ่ายหญิง” ให้อยู่อย่างสุขสบาย แต่เพราะ “ความรวย” ไม่สามารถการันตีชนะใจครอบครัวฝ่ายหญิงได้เสมอไป อีกทั้งหลีกเลี่ยงเข้าข่าย “ตกเขียว” ทำให้ต้องจดทะเบียนเป็นหลักประกัน สร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายหญิงอีกทางนั่นเอง

โดยเฉพาะ “กลุ่มข้าราชการ” เช่น ตำรวจ ครู ทหาร พนักงานรถไฟ มักถูกกล่าวอ้างต้องถูกโยกย้ายไปทำงานต่างพื้นที่ที่ “เมียหลวง” ไม่ได้ย้ายติดตามไปด้วย ทำให้อยู่ลำพังกลายเป็น “ชายโสด” เกิดอาการ “เหงาเปล่าเปลี่ยว” อีกทั้งยังมีปัจจัยเกี่ยวกับ “ความใกล้ชิดกับผู้หญิงอื่น” ทำให้ปล่อยตัวปล่อยใจเลยตามเลยขึ้นด้วยซ้ำ

ต้องเข้าใจว่า “ยุคนั้นผู้มีตำแหน่งข้าราชการ” ถือเป็นอาชีพทางสังคมค่อนข้างสูง “ชาวบ้านตามชนบท” ต่างให้ความเคารพนับถืออย่างสูงมาก ทำให้สามารถ “จีบสาวง่าย” อีกทั้ง “ครอบครัวฝ่ายหญิง” ก็สนับสนุนให้ลูกสาวมีคู่ครองดีมั่นคงอยู่แล้ว จึงมักเปิดบ้านต้อนรับ “ผู้มีตำแหน่งทางข้าราชการ” อยู่เสมอ

แต่ “ทางกฎหมาย” ตราบใด “ไม่หย่าจากภรรยาเก่า” การจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ลำดับที่ 2 เป็นต้นไป ถือว่า “เป็นโมฆะ” นั่นหมายความว่า “ไม่มีผลผูกพันเป็นผัวเมียตามกฎหมาย” สังเกตจาก “คนฐานะร่ำรวย หรืออดีตข้าราชการเสียชีวิต” มักมี “เมียน้อยและลูก” โผล่มากลางงานเรียกร้องมรดกเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เป็นประจำ

ประเด็น...“เรื่องจดทะเบียนสมรสเป็นโมฆะ” ย่อมมีผลเกี่ยวกับ “สิทธิการรับทรัพย์สินอีกฝ่ายหนึ่งตามกฎหมาย”

แม้ว่า “อยู่กินฉันสามีภรรยา” มานานเพียงใดก็ตาม ถ้าหาก “ทะเบียนเป็นโมฆะ หรือไม่ได้จดทะเบียนสมรส” ก็ไม่มีสิทธิรับทรัพย์สินอีกฝ่ายได้ หรือไม่มีสิทธิรับมรดกของอีกฝ่าย กรณีมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย

ยกเว้น “ทรัพย์สินอื่น” ที่ได้ทำมาหากินร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยา ที่เรียกว่า “กรรมสิทธิ์ร่วม” ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะใส่เป็นชื่อของฝ่ายใดก็ตาม สามารถฟ้องเรียกร้องทรัพย์สินนี้ได้ครึ่งหนึ่งเสมอ

แต่หากมี “บุตร” อันเกิดจาก “บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย” ที่เรียกว่า “บุตรนอกกฎหมาย” มีสิทธิรับมรดกของมารดาป.พ.พ.ม.1546 แต่ไม่สามารถรับมรดกบิดาได้ เว้นแต่ “บิดาได้รับรอง” โดยพฤตินัย หรือจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อน จึงถือเป็น “ผู้สืบสันดาน” เหมือนบุตรชอบตามกฎหมาย

การรับรองบุตรโดยพฤตินัยนี้คือ บิดาเชิดชูเด็กในครรภ์ของภริยา ลักษณะเป็นบุตรตัวเอง เช่น ให้เด็กใช้นามสกุล ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดู ทำให้ “บุตรมีสิทธิรับมรดกของบิดา” ได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายได้ เพราะยังไม่รับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

ตอกย้ำว่า...“เมียน้อยไม่ได้จดทะเบียน” ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์สินใดเลย เว้นแต่ “เป็นทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ร่วม” ที่มีสิทธิได้รับครึ่งหนึ่งอยู่ ด้วยการใช้เป็นหลักโต้แย้งว่า “เป็นทรัพย์สิน” ได้ทำมาหากินร่วมกันนี้ รวมถึงในนิติกรรมอื่นประเภทประกันชีวิตระบุชื่อ “เมียน้อย” เป็นผู้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน “การจดทะเบียนสมรสซ้อน” ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะหน่วยราชการใช้ระบบออนไลน์ข้อมูลร่วมกัน ทำให้ “รูปแบบเมียน้อย” ไม่ยึดหลักจดทะเบียนเป็นสำคัญ แต่หันมาใช้ “การแต่งงาน” เป็นหลักฐานทางพฤตินัยเรียกร้องสิทธิ “ทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ร่วม” ทั้งยังให้แก่ “บุตร” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อมรดกของบิดาตามมา

สาเหตุการมี “เมียน้อยเมียเก็บ” มักมีปัจจัย “ตัวเงินทอง” เข้ามาผลักดันให้ “ผู้หญิงยอมเป็นเมียน้อย” เพราะต้องการสบายโดยไม่ต้องทำงานหนัก ทำให้ต้องมองหา “บุคคลมีศักยภาพ” ส่งเสริมตัวเองอยู่อย่างสบายได้ดี และพัฒนากลายเป็น “มิจฉาชีพ” ในการหลอกชายแต่งงานก่อนหอบสินสอดทรัพย์สินหลบหนีอยู่เสมอ

เช่นกรณี “คนใกล้ชิด” ถูกหญิงสาวหลอกแต่งงาน มีพฤติการณ์ติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก พูดคุยถูกคอก่อนจะตกลงแต่งงานกัน “ฝ่ายหญิง” เรียกเงินสินสอด 5 แสนบาท แต่ฝ่ายหญิงให้ช่วยเหลือค่าจัดงานก่อน และโอนเงินไป 1 แสนบาท เมื่อถึงวันแต่งงานแล้วก็หายไปไม่สามารถติดต่อได้ ลักษณะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงขึ้นด้วยซ้ำ

ทั้งยังมีรูปแบบ “หญิงไทยรับจ้างแต่งงานกับต่างชาติ” ที่มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ที่เป็นทะเบียนสมรสโมฆะ นำหลักฐานราชการมายื่นระยะเวลาอยู่ต่อได้นานนับปี เพื่อให้ได้สัญชาติใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ในไทยได้นานกว่าปกติ เพื่อตบตาตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กลายเป็นความผิดจดข้อความอันเป็นเท็จ

กลับมากรณี “ผู้ชายมีภรรยาจดทะเบียนสมรส” แต่งงานกับหญิงอื่น “เมียหลวง” ฟ้องค่าทดแทนจากชู้ได้ ตาม ป.พ.พ.ม.1516 (1) ประกอบ ม.420 ฐานความผิดละเมิด มีอายุความ 1 ปี นับแต่รู้เรื่องมีชู้นั้น แต่ว่าเมียหลวงบุกงานแต่งไลฟ์สด ก็สุ่มเสี่ยงเข้าความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และฐานความผิดบุกรุกด้วยเช่นกัน

ดังนั้น “แต่งงานซ้อน” มักเกิดปัญหาครอบครัวแตกแยกได้เสมอ โดยเฉพาะ “ข้าราชการ” ต้องระวังเพราะอาจเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของการเป็นข้าราชการที่ดี ต้องถูกดำเนินการ “ทางวินัย” แม้เป็นโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง

แต่เมื่อต้องถูก “ตั้งคณะกรรมการสอบ” ย่อมมีผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ในอนาคตอยู่ดี

ย้ำว่า...“สามีมีเมียน้อย หรือภรรยานอกใจ” มักเป็นต้นเหตุ “ปัญหาครอบครัว” ที่เป็นภาระให้มีเรื่องต้องคิดมาก “ชีวิตต้องเจอแต่ทุกข์ตกต่ำและเป็นความสุขแบบปลอมๆ” รักเดียวใจเดียวดีที่สุด...