มุมที่ต้องมอง อะไรในเมียนมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ประกอบไปด้วยอภิมหาอำนาจ 5 ชาติ คือ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี รัสเซียและจีน
ถ้าแยกเป็น 2 ฝ่าย ก็เท่ากับ 3 ต่อ 2 คือ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนีฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็คือจีนกับรัสเซีย
ข่าวแนะนำ
มติที่ออกมาจะต้องเป็นไปในทางเดียวกันจึงมีผล แต่ด้วยจุดยืนที่ต่างกันจึงมีปัญหาขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่ายมาตลอด
ล่าสุด 3 ชาติมีมติให้รุมประณามการยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี คณะรัฐมนตรีและนักการเมืองทั้งหมดและตัดความช่วยเหลือ
แต่จีนและรัสเซียวีโต้ไม่เห็นชอบด้วยประเด็นนั้นก็ตกไป
ประเทศไหนจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร จะคว่ำบาตรกันรุนแรงแค่ไหนก็ว่ากันไปแต่ไม่ใช่มติของสหประชาชาติ
ต่างก็รับรู้กันดีว่าสถานการณ์จะเป็นไปในลักษณะนี้
นั่นคงเป็นคำตอบอย่างหนึ่งที่กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
พูดง่ายๆว่าอย่างน้อยก็มีแบ็กอัปหนุนอยู่ข้างหลัง
ไม่ใช่หัวเดียวกระเทียมลีบที่ชาติตะวันตกจะเข้าไปทลายห้างได้ง่ายๆหรืออีกหลายประเทศที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาต่างก็จะสงวนท่าทีมากกว่า
“อาเซียน” คงไม่ต้องพูดถึงเพราะอยู่กันแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
หลังจาก “โจ ไบเดน” ได้ทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการและประกาศนโยบายที่คืนกลับมาครองความเป็นหนึ่งในโลก
อย่างกรณีเมียนมานั่นแหละที่กำลังท้าทายเป็นประเดิม
แต่จีนดูเหมือนจะไม่ให้ราคาหรือความยำเกรงเท่าใดนักประกาศคว่ำบาตรบุคคลที่อยู่ในทีมของ “ทรัมป์” ทันทีแม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อการถ่ายอำนาจก็ตาม
เตือนว่าอย่าไปย่ำรอย “ทรัมป์” ให้มีปัญหากันขึ้นมาอีก
ที่ต้องตอกย้ำอย่างหนึ่งก็คือเมียนมานั้นยังเป็น “ขุมทรัพย์” สำคัญจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาล
ไม่ว่าจีน รัสเซีย อังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย เกาหลี ต่างก็จ้องที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งมานานแล้ว
ที่ตั้งของประเทศก็อยู่ในยุทธศาสตร์สำคัญ
พอมีเหตุในพม่าโดยเฉพาะการเข้ามามีอำนาจของ “ทหาร” อีกครั้งหนึ่ง มันจึงต้องเป็นเรื่องใหญ่และมีผลต่อโลกด้วย
ว่าถึงจีนแล้ว “สี จิ้นผิง” ผู้นำคนสำคัญที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งมีประชาชนให้การสนับสนุนในเนื้อเดียวกัน
จีนนั้นต้องถือว่าเศรษฐกิจกำลังยืนที่ 1 ของโลก ต่างกับสหรัฐฯที่ต่ำเตี้ยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งวันนี้ยิ่งเห็นชัดว่าคืนกลับไปแบบเก่ายาก
นั่นแหละคือสิ่งบอกเหตุว่าจีนไม่กลัวสหรัฐฯแล้ว
คอยดูกันต่อไป สถานการณ์ในเมียนมาจะเป็นสนามทดสอบพลังระหว่าง 2 ฝ่าย คือจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นหัวขบวนของแต่ละฝ่าย
บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยตั้งรับให้ดีก็แล้วกัน.
“สายล่อฟ้า”