มีของดีเยอะแยะ แต่ทุกข์ซ้อนทับกับทหาร “เมียนมา” ประเทศบ้านใกล้-เรือนเคียงกับไทยที่ส่วนใหญ่จะจำได้แต่ชื่อ “พม่า” จนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเสียใหม่
เคยไปเมียนมาครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้วคร่าวๆก็ก่อนที่ “กองทัพ” จะปล่อยวางอำนาจคือให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้
จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมา
ระหว่างนั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองครั้งสำคัญและยินดีกับพม่าไปด้วย
แม้รัฐธรรมนูญที่ทหารช่วยกันร่างขึ้นมาใช้จะแฝงไปด้วยอำนาจทหารที่เกาะเกี่ยวขึงตึงเอาไว้ด้วยเจตนาก็คือจะบอกว่าไม่ยอมผละไปได้ง่ายๆ
แต่ “อองซาน ซูจี” ก็ร่วมกับประชาชนเอาชนะเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้น เสียดายตรงที่ไม่สามารถขึ้นเป็น “ผู้นำ” ได้อย่างเต็มตัว
ก็เพราะรัฐธรรมนูญปิดประตูลั่นดาลมีวิธีเดียวก็คือต้องแก้ไข
ยังไม่รวมถึง ส.ส.-ส.ว. 25% มาจากกองทัพ กระทรวงสำคัญๆ เช่น กลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดนเป็นเรื่องของทหารจัดการเอง
นี่คือเงื่อนไขที่รัดตึงเอาไว้
พูดง่ายๆว่าการเมืองของเมียนมายังเป็นรูปผสม “กองทัพ-รัฐบาลเลือกตั้ง” แต่ก็สามารถอยู่กันมาได้จนครบเทอม
“อองซาน ซูจี” แม้จะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ว่าไปแล้วถือว่าเป็นผู้นำรัฐบาลเต็มตัวเหนือกว่าฝ่ายกองทัพที่ถืออำนาจแฝงอยู่
เป็นผู้นำรัฐบาลในสถานการณ์และเงื่อนไขอย่างนี้จึงไม่ง่าย จึงต้องรอโอกาสเปิดด้วยความอดทนรอคอย
กระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ทำให้พรรคของนางอองซาน ซูจี ชนะอย่างถล่มทลายปล่อยให้พรรคของ “กองทัพ” แทบจะสาบสูญไปเลยก็ว่าได้
...
หรือจะพูดว่า “คนพม่า” ไม่เอาแล้วทหาร
ก่อนจะเปิดประชุมนัดแรก “1 ก.พ.64” ทหารภายใต้การนำของ “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเมียนมา
ก็ยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้นำเต็มตัว
ประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี เพื่อจัดการให้เรียบร้อยและจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการทุจริตของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกทั่วไป
คือ ขอเวลาเก็บกวาดบ้านเสียก่อน
พร้อมกับควบคุม “อองซาน ซูจี” และบรรดานักการเมืองทั้งหมดท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้ยุติการกระทำดังกล่าว
“เมียนมา” จึงกลับไปสู่วังวนเก่าๆอีกครั้ง
เพราะกองทัพประเมินแล้วว่าหากรัฐบาล “ซูจี” ได้ไปต่อคราวนี้แหละยาวแน่...เพราะด้วยเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสภาและประชาชนอย่างกู่ไม่กลับ
ที่แน่ๆคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ “ทหาร” ออกไป
ก็เลยต้องชิง “ยึดอำนาจ” ตัดหน้าก่อนที่การเมืองจะเดินไปตามกติกาและมั่นใจว่ายังถือดุลอำนาจได้อยู่ กองเชียร์ประชาธิปไตยในบ้านเราก็เอาแค่หอมปากหอมคอ
เพราะเรื่อง “พม่า” นั้นยังหนังเรื่องยาว...ไม่จบง่ายๆหรอก!
“สายล่อฟ้า”