กองทัพพม่านำประเทศก้าวถอยหลัง กลับคืนสู่เผด็จการเต็มใบอีกครั้ง ด้วยการยึดอำนาจที่อ้างว่าไม่ใช่ “รัฐประหาร” แต่เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี จับกุม อองซาน ซูจี และคณะผู้นำรัฐบาล และแต่งตั้งพรรคพวกเป็นประธานาธิบดี เพื่อมอบอำนาจการปกครองให้ ผบ.ทหารสูงสุด

เป็นรัฐประหารที่ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2551 ที่ใช้อยู่ขณะนี้ เขียนขึ้นโดยรัฐบาลทหาร มีบทบัญญัติว่าสภาป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งทหารเป็นเสียงข้างมาก มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มอบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คนปัจจุบันคือ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทหารต้องยึดอำนาจ เพราะพรรคการเมืองของกองทัพ แพ้เลือกตั้งยับเยิน ส่วนพรรคที่ชนะแบบฟ้าถล่มได้แก่ พรรคเอ็นแอลดีที่ซูจีเป็นผู้นำ ผู้นำกองทัพโวยวายว่าเป็นการโกงเลือกตั้งครั้งมโหฬาร แม้ กกต.จะยืนยันว่าถูกต้อง แต่กองทัพไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง เป็นข้ออ้าง เดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์

อีกสาเหตุหนึ่งของการยึดอำนาจ ในวันที่สมาชิกรัฐสภาชุดใหม่จะเปิดประชุม ครั้งแรก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ อาจเพราะว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย อายุได้ 65 ปีแล้ว จะต้องเกษียณในเดือนกรกฎาคมนี้ จะ หลุดลอยไม่มีที่ยืนทางการเมืองทันทีถ้าไม่ตัดสินใจ ต้องลงจากหลังเสือ โดยไม่รู้โชคชะตา

รัฐประหารในพม่าอาจน่าตกใจ แต่ไม่น่าแปลกใจ นักรัฐศาสตร์บางคนระบุว่า รัฐประหารไม่ใช่ว่าอยู่ๆก็เกิดขึ้นเอง แต่ต้องมีประเพณีที่สืบทอดกันมา พม่าสืบทอดรัฐประหารแบบเดียวกับไทย แต่ไทยเราถี่ยิบกว่าหลายเท่า พม่าได้รับเอกราชปี 2491 ปกครองโดยรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ถูกยึดอำนาจปี 2505 จนกระทั่งปี 2531 จึงรัฐประหารอีกครั้ง

เพิ่งจะมีรัฐประหารอีก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างว่า พรรคซูจีโกงเลือกตั้ง ทำให้พรรคทหารแพ้ยับเยิน ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคซูจีชนะแบบฟ้าถล่ม แต่เคยชนะมาแล้วเมื่อปี 2533 ทำให้ทหารตกตะลึง นึกไม่ถึงว่าจะแพ้เพราะขณะนั้นกองทัพกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงล้มกระดานไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง

...

พม่าเพิ่งจะเริ่มทดลองประชาธิปไตยอีก ในการเลือกตั้งเสรีครั้งแรกเมื่อปี 2558 ที่พรรคซูจีชนะถล่ม แต่กองทัพก็ยอมรับ ยอมให้ตั้งรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกในกว่า 50 ปี ภายใต้เผด็จการทหาร ที่ทำให้ประเทศยากจน ผู้คนไหลทะลักหางานทำต่างประเทศ หวังว่าจะไม่ถูกชาวโลกคว่ำบาตร กลับสู่ประวัติศาสตร์ความยากจน.