ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ ดัชนีความโปร่งใสของ 180 ประเทศทั่วโลก ที่ประเทศไทยสอบตกซ้ำชั้นทุกปี กลายเป็นข่าวประจำปีขององค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันระดับโลก ที่ชื่อ “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ)” อันดับไทยของปี 2563 ร่วงลงอีก 3 อันดับ ไปอยู่ที่อันดับที่ 104 ได้ 36 คะแนนสามปีซ้อน

โฆษกรัฐบาลแถลงว่า แม้อันดับจะร่วงลง 3 อันดับ แต่ยังได้คะแนนเท่าเดิม นั่นก็คือ คะแนนสอบตกซ้ำซาก จากคะแนนเต็ม 100 ได้ 36 คะแนน แต่ในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ไทยได้อันดับที่ 19จากทั้งหมด 31 ประเทศ ส่วนในกลุ่มอาเซียน อันดับไทยดีขึ้นมาหนึ่งอันดับจากที่ 6 เป็นที่ 5 น่าภูมิใจหรือไม่

คะแนนที่ใช้จัดดัชนีความโปร่งใส มาจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง เหตุที่อันดับของปี 2563 ตกไป อาจเพราะว่า นายกรัฐมนตรีตั้ง 2 คณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบ่อนการพนัน และการลักลอบนำแรงงานเข้าเมือง ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะการสั่งให้ตรวจสอบและเอาผิด น่าจะได้คะแนนมากกว่า

เพราะเป็นหลักฐานยืนยันว่า ประเทศไทยเอาจริง ในการตรวจสอบและเอาผิดผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ปกปิดหรือปกป้องผู้ทำผิด แสดงถึงความโปร่งใส นายกรัฐมนตรียังสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปศึกษาข้อแนะนำ เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานตรวจสอบ สร้างความเชื่อมั่น เปิดเผย และโปร่งใส

ต้องยอมรับว่า เป็นข้อแนะนำที่น่าเลื่อมใส แต่อาจเป็นไปได้ยากในภาวะการเมืองปัจจุบันที่ยังไม่ปฏิรูปขาดความโปร่งใส ข้อมูลของ ป.ป.ช. ระบุใน 3 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้รับร้องเรียนเรื่องการทุจริตมหาศาล ปี 2561 ได้รับ 3,285 เรื่อง เกี่ยวข้องกับเงิน 2.3 แสนล้านบาท ปี 2562 พุ่งขึ้นเป็น 10,382 เรื่อง

...

เกี่ยวข้องกับเงินของรัฐที่ถูก กล่าวหาทุจริต 2.4 แสนล้านบาท ปี 2563 ร้องเรียน 8,631 เรื่อง เกี่ยวข้องกับเงิน 9 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่งเริ่มต้นไม่กี่เดือน แต่มีเรื่องร้องเรียนเกือบ 5,000 เรื่อง ไม่ทราบว่าทั้งหมดนี้มีการตรวจสอบ และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องได้กี่คน ภายใต้รัฐธรรมนูญที่อ้างว่า “ปราบโกง”

ไม่มีทางที่จะทำให้องค์กรตรวจสอบเข้มแข็ง โปร่งใส และตรงไปตรงมาได้ ถ้าประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย องค์กรอิสระถูกการเมืองแทรงแซงและครอบงำ ต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบราชการ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ฯลฯ เริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การเข้าสู่อำนาจด้วยประชาธิปไตยแท้.