นายกฯ เตรียมเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทางทั้ง 59 สถานี เชื่อม "ปทุมธานี-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ" พร้อมทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีทองไร้คนขับสายแรกของไทย เที่ยวปฐมฤกษ์ 16 ธ.ค.นี้

วันที่ 12 ธ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการเปิดบริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง โดยนายกฯและสื่อมวลชน จะได้ร่วมโดยสารรถไฟฟ้าสายสีทองที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากสถานีกรุงธนบุรี ไปยังสถานีคลองสาน เพื่อเป็นการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง เที่ยวปฐมฤกษ์ ในวันพุธ ที่ 16 ธันวาคมนี้

ด้วยการพัฒนาระบบรถขนส่งมวลชนแบบไร้รอยต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทองนี้ ทำให้สามารถเชื่อมการเดินทางของประชาชนถึง 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพิ่มทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชน รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีทองยังเป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยางไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย ช่วยลดมลพิษและประหยัดพลังงานอีกด้วย

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มจำนวน 7 สถานี (สถานีพหลโยธิน59 สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีแยกคปอ. และสถานีคูคต) ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย เป็นผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประสบความสำเร็จ ในการเปิดให้บริการครบทุกสถานี ตลอดเส้นทาง ทั้ง 59 สถานี รวมระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร คาดว่าเมื่อรวมกับเส้นทางที่เปิดสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1,500,000 เที่ยว/คนต่อวัน

ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการขนส่งมวลชนขนาดรอง ระยะที่ 1 มีระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี คือ กรุงธน-เจริญนคร-คลองสาน เป็นระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ Automated Guideway Transit (AGT) หรือรถไฟฟ้าระบบ Automated People Mover (APM) คาดการณ์ผู้โดยสาร 42,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบล้อ ราง รวมทั้งการเดินทางด้วยเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

...

การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 14 สาย ระยะทางกว่า 553.41 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 9 เส้นทาง และตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในทุกๆ ปี เช่น 2564 ได้แก่ สีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) สีแดงอ่อน (บางซื่อ–ตลิ่งชัน) ปี 2565 สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และ ปี 2566 สีแดงเข้ม (รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) สีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา)-สีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศิริราช) เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีการลงทุนพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟทางสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูงที่อยู่รหว่างการดำเนินสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นแกนหลักการเดินทาง และขนส่งของประเทศ ยกระดับการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน