“อ.เจษฎ์” ไขความกระจ่าง มาตรา 112 ใครมีสิทธิ์แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ยกกฎหมายหมิ่นประมาทเทียบเหมือนหรือต่าง พร้อมเผยขั้นตอนดำเนินคดี
วันที่ 11 ธ.ค. 2563 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ ถึงประเด็นมาตรา 112 ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ซึ่งวานนี้ก็มีการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว รวมถึงยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทุกคนด้วย ขณะที่มาตรา 112 หรือ ม.112 ที่มักได้เห็นหรือได้ยินบ่อยๆ คืออะไร แตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไปอย่างไร หรือใครสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้บ้าง
รศ.ดร.เจษฎ์ เริ่มต้นกล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องของการกำหนดความผิดในเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
สำหรับความแตกต่างมาตรา 112 กับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปนั้น หากพิจารณาแล้วในเรื่องของบุคคลทั่วไป เรื่องดูหมิ่นเป็นบทบัญญัติของกฎหมายบทบัญญัติหนึ่ง เรื่องหมิ่นประมาทก็เป็นบทบัญญัติกฎหมายอีกบทบัญญัติหนึ่ง เรื่องการแสดงความอาฆาตมาดร้ายในบุคคลทั่วไป ไม่ได้มี แต่จะเป็นเรื่องของการข่มขู่หรือการทำให้หวาดกลัว เพราะฉะนั้นในส่วนของคนธรรมดาก็จะแยกๆ กันอยู่ไม่ได้มารวมกันอยู่ในกฎหมายมาตราเดียว ส่วนโทษก็จะแตกต่างกัน ซึ่งโทษตามมาตรา 112 ก็จะเป็นโทษที่หนักกว่ากรณีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป
ขณะที่เมื่อถามว่า มาตรา 112 กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ได้คำตอบว่า ประเทศหลายๆ ประเทศก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ในเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่หลายๆ ประเทศก็อาจจะไม่มี บางประเทศก็เป็นโทษอาญาในลักษณะของการมีโทษจำคุก บางประเทศก็เป็นโทษอาญาในลักษณะของการปรับ จึงมีทั้งเหมือนและต่าง
...
ส่วนขั้นตอนการกระบวนการดำเนินคดี มาตรา 112 จะเริ่มจากการที่มีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ก่อนเข้าสู่การดำเนินการตามกระบวนขั้นตอนกฎหมายตามปกติทางอาญา เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนหากเห็นควรสั่งฟ้องก็ส่งต่อไปที่พนักงานอัยการ จากนั้นพนักงานอัยการสั่งฟ้องไปที่ศาล คือดำเนินกระบวนพิจารณาเหมือนคดีอาญาทั่วไป
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎ์ ยังได้ตอบคำถามทิ้งท้ายถึงเรื่องว่าใครบ้างที่จะสามารถแจ้งความในความผิดมาตรา 112 ได้ คำตอบคือ “ใครก็ได้แจ้งความร้องทุกข์ได้ ใครพบเห็นการกระทำก็ไปแจ้งความได้” ส่วนกรณีถ้าคดีถึงที่สุดแล้วผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีความผิดมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องกลับได้หรือไม่ รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุว่า “เท่าที่เห็นมายังไม่มี”