กองทัพเรือ (ทร.) ร่วมบรรจุถุงยังชีพ และปล่อยขบวนรถลำเลียงถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือปชช.ตั้งแต่เริ่มจนกว่าจะคลี่คลาย

วันที่ 9 ธ.ค. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ นำกำลังพลกองทัพเรือ ร่วมบรรจุถุงยังชีพและเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถลำเลียงถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ณ ห้องอรุณอมรินทร์ หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบรวม 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยปัจจุบันทุกจังหวัดระดับน้ำลดลงแต่ยังคงมีน้ำท่วมใน 5 จังหวัด เพื่อเป็นการให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่รับผิดชอบของ ทัพเรือภาคที่ 2 กองทัพเรือ จึงได้ร่วมกับ สมาคมภริยาทหารเรือ จัดถุงยังชีพจำนวน 1,000 ชุด และชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพเรือ (พสบ.ทร.) สนับสนุนเพิ่มอีกจำนวน 200 ชุด โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ และ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้ร่วมบรรจุและมอบถุงยังชีพให้กับ พลเรือโท สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 และเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถลำเลียงถุงยังชีพไปยังทัพเรือภาคที่ 2 เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัยต่อไป

...

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ (ศบภ.ทร.) ได้สั่งการให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 2 (ศบภ.ทรภ.2) จัดตั้งหมู่เรือบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลขึ้น ประกอบด้วย เรือ ต.993 และเรือ ต.235 รับผิดชอบพื้นที่ด้านเหนือ เรือหลวงปัตตานี เรือ ต.112 และ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่ตอนกลาง เรือหลวงคลองใหญ่ และเรือ ต.99 รับผิดชอบพื้นที่ตอนล่าง มีภารกิจในการช่วยเหลือและฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติอำเภอชายฝั่งทะเล ในเขตพื้นที่ทางทะเลของทัพเรือภาคที่ 2 โดยการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้ความสำคัญในด้านการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถูกบรรจุไว้ในนโยบายกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 2564 ด้านกิจการพลเรือน ในการพัฒนาระบบงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการช่วยเหลือประชาชนทั้งทางบก และทะเล ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ และในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งมุ่งเน้นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติงานของกองทัพเรืออย่างต่อเนื่อง ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีและรับแรงสนับสนุนจากสังคมและประชาชน

ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ (ศบภ.ทร.) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ และในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และตามแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม 2558 โดยแบ่งหน้าที่และสายการบังคับบัญชาเป็นฝ่ายต่างๆ และส่วนบัญชาการ รวมทั้งส่วนสนับสนุน ในการให้การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ และกำลังพล ในการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งการฟื้นฟูบูรณะ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยราชการ พลเรือน และหน่วยงานภาคเอกชน ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุจนสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ จำนวน 7 ศูนย์ ดังนี้

1. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 (ศบภ.ทร.1)
2. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 2 (ศบภ.ทร.2)
3. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 3 (ศบภ.ทร.3)
4. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฐานทัพเรือกรุงเทพ (ศบภ.ฐท.กท.)
5. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (ศบภ.กปช.จต.)
6. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (ศบภ.นรข.)
และ 7. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ (ศบภ.ฉก.นย.ภต.)

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนภัยพิบัติต่างๆ โดยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือ ผ่านสายด่วน โทร. 1696 พร้อมปฏิบัติภารกิจเพื่อพี่น้องประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง