กลุ่มภาคีนักกฎหมาย เผย ม็อบราษฎร ถูกดำเนินคดีแล้ว 220 คน “เพนกวิน” หนักสุด 29 ข้อหา ประกาศเตรียมแจ้งความกลับตร.ที่ไม่เป็นธรรม จ่อฟ้องศาลปกครอง ปม สลายการชุมนุมที่หน้าสภา และออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วันที่ 8 ธ.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโดยระบุว่า หลายเดือนที่ผ่านมามีประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาลนำมาสู่การที่รัฐใช้มาตรการทางกฎหมายมาดำเนินคดีจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม ไปจนถึงการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บ ภาคีนักกฎหมายฯ จึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน และเตรียมจะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ปฏิบัติ จนถึงผู้สั่งการ โดยในวันที่ 9 ธ.ค.จะเริ่มจากการร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการที่มีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย.ที่สนามหลวง จำนวน 2 คนโดยไม่มีการสอบสวนให้แน่ชัด ภายหลังพบว่าทั้งคู่ไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุม ทั้งจะเข้ายื่นฟ้องศาลปกครอง ใน 2 กรณี คือการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.และการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้ที่ถูกดำเนินคดีและได้รับบาดเจ็บต่อไป
...
น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธ์ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ได้รวบรวมสถิติและช่วยเหลือกลุ่มราษฎรที่ถูกดำเนินคดีจากรัฐมานับจากการชุมนุมครั้งแรก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.จนถึง 7 ธ.ค.พบว่า มีทั้งสิ้น 119 คดี ผู้ต้องหา 220 คน ในจำนวนนี้มีการดำเนินคดีกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 7 คดี จำนวน 5 ราย คือ กลุ่มนักเรียนเลว ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ผู้ต้องหาอายุต่ำสุด คือ 16 ปี นอกจากนี้ยังมีเยาวชนอายุ 17 ปี ถูกข้อหาม.116 ด้วย ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าเป็นกรณีที่ผิดปกติเพราะนอกจากผู้ต้องหาจะเป็นเด็กแล้วยังเป็นการดำเนินคดีย้อนหลังคือหลังจากที่นายกฯแถลงการณ์ว่าใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม
ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า สำหรับจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในพื้นที่กทม.กลาง ตะวันออก มีทั้งสิ้น 87 คดี ส่วนภาคเหนือ 15 คดี อีสาน 11 คดี ในจำนวนนี้เป็นข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากที่สุด 56 คดี ผู้ถูกกล่าวหา 149 คน ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีร้ายแรง 18 คดี คดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุม 21 คดี ผู้ถูกกล่าวหา 30 คน ข้อหาม.116 ยุยงปลุกปั่น 17 คดี 53 คน และ ม.112 จำนวน 11 คดี 24 คน ในส่วนของม.112 เป็นการแจ้งข้อหาย้อนหลังเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีประชาชนไปแจ้งความจับแกนนำข้อหา ม.112 ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าจะมีกี่จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ของแกนนำ ทั้งมีๆ ข้อหา ม. 110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี จำนวน 5 ราย
"ใน 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีการออกหมายจับ 83 คดี บางคดีมีโทษไม่ร้ายแรงมากก็มีการขอหมายจับในส่วนของแกนนำม็อบที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน รวมทั้งสิ้น 21 คดี ในจำนวนนี้เป็น ม.112 รวม 7 คดี แต่ถ้านับรวมคดีทั้งหมดของเพนกวิน ที่ทางศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่คดีแขวนพริกเกลือหน้าทำเนียบฯ จะมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 29 คดี ถือเป็นบุคคลที่ถูกดำเนินคดีสูงสุด ขณะที่นายอานนท์ นำภา มี 14 คดี ม.112 จำนวน 3 คดี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง 10 คดี ม.112 จำนวน 4 นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ 12 คดี ม.112 จำนวน 2 คดี นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง 16 คดี แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ทั้งนี้ ภาพตัวเลขที่ปรากฏ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 57 จนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยน ล่าสุดคือการจับกุมตัวกลุ่wevo จำนวน 19 คน การที่ใช้กฎหมายตามอำเภอใจเช่นนี้ จึงต้องมีการรวมตัวของนักกฎหมายในรูปแบบภาคี เพื่อเข้ามาตรวจสอบหากพบมีการดำเนินคดีโดยไม่คำนึกถึงหลักนิติรัฐ เจ้าหน้าที่ก็ควรที่จะได้รับการลงโทษด้วย”