รมช.แรงงาน ชี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ปี 2545 สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการ (สปก.) ร่วมพัฒนาทักษะฝีมือ พนักงานได้ปีละกว่า 4 ล้านคน เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพ ปูรากฐาน ศก.ให้เข้มแข็ง 

วันที่ 3 ธ.ค. ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายหน้าที่ที่สำคัญ เพื่อช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดทักษะฝีมือ หรือมี แต่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการเพียงกระทรวงแรงงานเพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนาทักษะ รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องร่วมมือกัน ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรที่มีภายใต้ภารกิจของตนเอง ในส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานที่ตนเองกำกับดูแลนั้น มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีศักยภาพ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกำลังแรงงานในสถานประกอบกิจการมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมรวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

...

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน มีการปรับปรุงระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานประกอบกิจการ สามารถยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์จากการฝึกอบรมฝีมือแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งหลังจากนายทะเบียนให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแล้ว สถานประกอบกิจการสามารถจัดพิมพ์หนังสือรับรองได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับการยื่นขอรับรองหลักสูตรที่ สปก.จัดอบรมแบบออนไลน์นั้น อยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎหมาย กำหนดรายละเอียด ขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบ รวมถึงรูปแบบการฝึกอบรมออนไลน์ที่จะสามารถรับรองได้ และในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ สปก.ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 4 ล้านคน

ด้านนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2563 กพร. ได้จัดสัมมนา ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ขึ้น เพื่อให้ผู้อำนวยการสถาบันหรือผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน ได้รับทราบเป็นแนวทางการส่งเสริม สปก.ในการพัฒนาฝีมือแรงงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อไป อีกทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ สปก.ที่อยู่ในข่ายบังคับต้องยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี พ.ศ. 2563 ด้วยการลดสัดส่วนจำนวนลูกจ้างที่จัดให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน จากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 10 โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีจำนวนสถานประกอบกิจการที่เป็นเป้าหมายที่ต้องได้รับคำแนะนำจำนวน 14,704 แห่ง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ ก.พ.ร.จะต้องมีความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความชัดเจนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงได้จัดโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในครั้งนี้

“สถานประกอบกิจการที่ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ สามารถติดต่อหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 เพราะการได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบกิจการ จะส่งผลต่อศักยภาพของแรงงานไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” รมช.แรงงาน กล่าว...