เป็นไปตามความคาดหมาย ของนักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (5) ตามที่กลุ่ม ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้ร้อง กรณีอยู่บ้านพักทหารหลังเกษียณราชการ
พล.อ.ประยุทธ์เข้าอาศัยใน “บ้านรับรอง” ของกองทัพบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 หลังจากรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จนถึงปัจจุบัน เมื่อจะเกษียณราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557 แต่ยังเป็นนายกรัฐมนตรี คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง
ระเบียบการใช้บ้านรับรองของกองทัพบก ระบุว่าผู้มีสิทธิ์เข้าพักอาศัยต้องเคยเป็น ผบ.ทบ. และทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพบกและประเทศชาติ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ ต้องมีที่พักอาศัยที่ปลอดภัย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (เรื่องประโยชน์ทับซ้อน)
อีกทั้งไม่ได้เรียกรับผลประโยชน์มิชอบใดๆ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่ถูกร้อง แต่เรื่องนี้อาจกลายเป็นประเด็นข้อกฎหมาย และประเด็นการเมืองที่ถกเถียงกันต่อไป เพราะความผิดที่เรียกว่า “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” เป็นปัญหาสำคัญในวงการเมือง และราชการไทย
รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีบทบัญญัติห้ามกระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เรียกกันง่ายๆ ว่า “ประโยชน์ทับซ้อน” เช่น ห้าม ส.ส.หรือรัฐมนตรีไม่ให้รับสัมปทานจากรัฐ เช่น รัฐมนตรีเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่รับเหมาก่อสร้างโครงการที่รัฐมนตรีกำกับดูแล ผลประโยชน์ย่อมขัดกันแน่
...
รัฐมนตรีมี 2 สถานะ สถานะหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมา ต้องแสวงกำไรสูงสุด อีกสถานะหนึ่งเป็นรัฐมนตรี ต้องปกป้องประโยชน์ของชาติ มนุษย์ปุถุชนส่วนใหญ่มักเลือกประโยชน์ส่วนตนก่อนส่วนรวม การกระทำเช่นนี้ รัฐธรรมนูญถือว่าเป็น “การทุจริต” รูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับการรับประโยชน์จากหน่วยราชการ
แต่เป็นการทุจริตที่ป้องกันและปราบปรามได้ยาก ยากยิ่งกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ที่เป็นรัฐราชการ ที่อุดมด้วยระบบอุปถัมภ์ มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทางเดียวที่จะสัมฤทธิผล ได้ต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบราชการ กระบวนการยุติธรรม เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ.