2 ธ.ค.วันชี้ชะตา "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพ้นสภาพหรือไม่? เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี กรณีใช้ประโยชน์พักอาศัยบ้านพักทหาร หลังเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปแล้ว ตามคำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย
สมมติว่าหาก "บิ๊กตู่" ถูกตัดสินว่ามีความผิด เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงครม.ทั้งคณะ ต้องหลุดจากเก้าอี้ไปพร้อมกัน และขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร
เพื่อให้เห็นภาพและกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้น แม้เปอร์เซ็นต์ที่ "บิ๊กตู่" จะร่วงตกจากเก้าอี้ มีความเป็นไปได้น้อยมากก็ตาม และสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของรศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า แม้รัฐธรรมนูญ จะมีข้อห้ามในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แต่ยังมีมาตรา 279 คุ้มครองการใช้อำนาจหรือการออกประกาศ คำสั่งของ คสช. ซึ่งไม่มีความผิด และท้ายสุดแล้วประเด็นอาจไม่ใช่บ้านพักรับรอง ไม่ได้อยู่ในระเบียบของกองทัพ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลสำคัญทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง และไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็อาจจะเป็นไปได้
ด้วยเพราะความแน่นอน คือความไม่แน่นอน ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งสิ้น หาก "บิ๊กตู่" พ้นจากตำแหน่งไปจริงๆ ต้องไปสู่กระบวนการในรัฐสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ เพราะ ณ วันนี้ ยังใช้กติกาเดียวกันตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญปี 60 และมาตรา 276 เปิดทางให้ส.ว.สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลไกยังเหมือนเดิม ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตในบัญชีเดิมที่เหลืออีก 5 คน คือ 1. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 3. นายชัยเกษม นิติสิริ 4. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ 5. นายอนุทิน ชาญวีรกูล
...
ในกรณีของคุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีนัยอะไรที่เกี่ยวข้องในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสินทางการเมืองไปแล้ว
“สมมติมีการโหวตนายกฯ ใหม่ ต้องดูว่าพล.อ.ประยุทธ์ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่ หากไม่ถูกตัดสิทธิ์ ก็จะมีแคนดิเดตนายกฯ 6 คนในสภา และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับการโหวตกลับมาใหม่ตามกลไกรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงในรัฐสภา ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา คือ 366 คน จากจำนวน 732 คน”
หรือในอีกกรณีหากเป็นนายกรัฐมนตรี จากคนนอก ต้องมีการปลดล็อกโดยใช้กลไกรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภา จำนวน 488 คน จาก 732 คน ก่อนไปสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยผู้รับเลือกต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งประเด็นการปลดล็อกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก มีความเป็นไปได้น้อยมาก ยกเว้นเกิดการรัฐประหารขึ้นมา หรือมีปัจจัยที่เกิดจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คน ไม่ได้รับการเสนอชื่อ และพรรคการเมืองต่างเห็นว่า การมีนายกรัฐมนตรีคนนอก จะเป็นการหาทางออกให้กับสังคม
นอกจากนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ในส่วนของการเมืองนอกสภาฯ ยังคงมีการชุมนุม แม้ข้อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก จะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องก็ตาม เพราะไม่ใช่เงื่อนไขในเรื่องนี้เรื่องเดียว ยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
อีกทั้งแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง โดยส่วนตัวมองว่าก็ยังไม่หลุดจากตำแหน่ง จากกลไกรัฐสภาในการโหวตเลือกให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หรือใครซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง นำไปสู่การจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ แต่หากไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวต่อไป.