"ประวิตร" ห่วงใยสิ่งแวดล้อม สั่งยกระดับป้องกันฝุ่น PM 2.5 ขยะพลาสติก คุมเข้มวัสดุต้นเหตุไฟป่า อนุรักษ์ป้องกันป่าชายเลน กันทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 4 พ.ย.63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 และคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้พิจารณาเรื่องที่สำคัญ โดยให้ความเห็นชอบตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจุดเริ่มต้น บริเวณ อ.ทุ่งช้าง ถึง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ระยะทาง 34 กม. ของกรมทางหลวง, เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศ ทส. เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 พื้นที่ (จ.พังงา 7 อำเภอ ,จ.กระบี่ 5 อำเภอ) ออกไปอีก 2 ปี และเห็นชอบให้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) เพื่อกำหนดทิศทางนำไปสู่การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย 4 ชนิด ประกอบด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟม แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก ด้วยการใช้วัสดุทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำขยะพลาสติกเป้าหมายดังกล่าว กลับมาใช้ประโยชน์อีก เป็นต้น

...

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบ รายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ.2562 เห็นชอบกฎกระทรวง พื้นที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เป็นพื้นที่ใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และเห็นชอบให้ป่าชายเลน จ.เพชรบุรี จ.ชลบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ ให้ครอบคลุมและยั่งยืนตลอดไป

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุดมศึกษาฯ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีมาตรการบริหารจัดการวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง วัสดุการเกษตร ที่จะก่อให้เกิดต้นเพลิง และกลายเป็นฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมถึงการนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่า เช่น ผลิตพลังงาน ทำปุ๋ย และผลิตภัณฑ์ต่างๆ พร้อมทั้งให้มีการรณรงค์ขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชน ได้มีส่วนร่วมป้องกันไฟป่าหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทช.ตามมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน ให้มีความยั่งยืนตลอดไป