"จิรวัฒน์" ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล จี้ รัฐบาลหยุดใช้นิติสงครามจัดการ ปชช. ชี้ คดีนิสิต-นศ.ไม่เข้าองค์ประกอบผิด ม.116 อัด หากใช้ ขอให้ใช้กับคนที่ฉีก รธน.และยึดอำนาจ
วันที่ 3 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อเวลาที่รัฐบาลมีปัญหา ไปต่อไม่ได้ ก็เป็นความรับผิดชอบหนึ่งต่อรัฐสภา ที่รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบ แต่หากเมื่อกลไกรัฐสภา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ย่อมนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องจากประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เมื่อเกิดการชุมนุมจากประชาชน มีข้อเรียกร้องต่างๆ รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังและพิจารณาตัวเอง
“ประเด็นของการมีทัศนคติต่อผู้ชุมนุมของผู้มีอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามทางการเมือง ก็จะมีวิธีการจัดการแบบที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ทำอยู่คือ การเอากฎหมายมาควบคุมมากกว่าจะใช้หลักสันติวิธี หลักนิติธรรม หลักการประนีประนอม และหลักสิทธิมนุษยชนมาใช้ เราจะเห็นการที่ผู้มีอำนาจเอานิติสงครามมาใช้กับผู้ชุมนุม ที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยการเอากฎหมายมาตรา 116 มาดำเนินคดี การถอยคนละก้าว แบบที่นายกรัฐมนตรีบอกจึงไม่จริง นอกจากจะต้องปล่อยผู้ชุมนุมทั้งหมดแล้ว ก็ต้องไม่มองผู้ชุมนุมเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ไม่หากฎหมายมาดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาญามาตรา 116 มีเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ เพื่อป้องกัน ปราบปรามเอาผิดผู้ก่อการร้าย ผู้ที่มีความประสงค์จะให้เกิดการยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” จิรวัฒน์ กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น จิรวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า หากไปดูองค์ประกอบความผิด ไม่มีสิ่งใดเข้าองค์ประกอบเลย แต่ยังมีการเอามาตรา 116 ไปตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน รวมทั้งข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็ไม่ได้กระทำตามที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้ โดยข้อเรียกร้องที่หนึ่ง ที่มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องรับฟัง เพราะหากพูดให้ถึงที่สุดนายกรัฐมนตรีคือต้นตอของปัญหา มาจากรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยกลไกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นายกรัฐมนตรีก็คือ หัวหน้า คสช. ส่วนข้อที่สอง ที่มีการเรียกร้องให้มีการยุบสภาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกติกามีปัญหาที่ส่งผลเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้ เป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน รวมทั้งเป็นการยืนยันหลักการอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชน ซึ่งการเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และในประเด็นข้อเรียกร้องที่สามที่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เราต้องรับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ จะเห็นด้วยหรือไม่ จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยกันภายใต้กรอบของกฎหมาย
...
จิรวัฒน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า คนที่สมควรโดนกฎหมายอาญามาตรา 116 แท้ที่จริงแล้วคือ คนที่ฉีกรัฐธรรมนูญและใช้กำลังยึดอำนาจรัฐประหารมา แบบนี้สมควรโดนกฎหมายอาญามาตรา 116 นอกจากนี้ อยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า การจับกุมดำเนินคดี ต้องมีองค์ประกอบความผิด และมีหลักฐานที่เพียงพอ อย่าให้รัฐบาลใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจและรังแกประชาชน