พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามนักข่าวกรณี คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ให้ความเห็นบนเวทีเสวนา “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ด้วยความเคารพเป็นการส่วนตัว คุณอานันท์เป็นอดีตนายกฯ ก็รับฟังข้อเสนอมาโดยตลอด ทั้งทางสื่อโซเชียลและจากคำพูดที่ออกมา ได้ยินทุกอย่าง ขอให้เข้าใจซึ่งกันและกันด้วย การเปิดรัฐสภาประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา ก็รับฟังความคิดเห็นเรื่องความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ถือว่าจบ

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ได้ยินแล้ว แต่ไม่ฟัง

ประเด็นสำคัญที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้ก็คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เพราะเข้ามาไม่ชอบธรรมปฏิวัติยึดอำนาจ แถมยัง สร้างรัฐธรรมนูญที่ต่อท่ออำนาจ ด้วยการ แต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน ให้มีสิทธิเลือกนายกฯ เป็นเวลา 5 ปี เอื้อประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ตอบแล้ว ไม่ลาออก ได้ยินแล้วแต่ไม่ฟัง ไม่มีใครรู้ว่าความขัดแย้งนี้จะขยายไปสู่อะไรบ้างในอนาคตอันใกล้ แต่ถ้า ภายในปีนี้การชุมนุมไม่สงบ ปีหน้าเศรษฐกิจไทยก็เตรียม “เผาจริง” ได้เลย

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่อยากเห็น คนไทยทุกคนก็ไม่อยากเห็น

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของ อดีตนายกฯอานันท์ ว่า ความสงบที่แท้จริง ต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบน ไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ ต้องมองว่า ความสงบที่แท้จริงรากอยู่ที่ไหน ตนคิดว่า ตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค มันไม่มีความสงบ อย่างไรก็ตาม ไม่มีสังคมไหนสงบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยหากจับเหตุของปัญหาที่ถูกต้องโอกาสที่เราจะไปสู่ สังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำน้อยลง ให้คนมีโอกาสมากขึ้น เราก็น่าจะพอใจแล้ว

...

คุณวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้รับคำสั่งจาก คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ออกแบบ โครงสร้างและรูปแบบวิธีทำงาน ของ คณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งจะเสนอคุณชวนในวันนี้ ก็ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้ สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายรับฟังกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร ให้รอคุณชวนแถลง

ผมเห็นด้วยกับ คุณวุฒิสาร เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ว่า เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายและทุกคน ที่จะต้องทำให้เกิดอนาคตที่อยู่ร่วมกันได้ ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญต้องทำให้ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน สติ และระงับไม่ให้เกิดความรุนแรง เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ประสบการณ์ในอดีตเกิดซ้ำ อะไรที่รีบทำได้ก็ควรรีบทำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมั่นใจ แต่ความยากก็คือ การสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่น

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอจากฝ่ายไหน ต่างก็มาลงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น และปัญหาสำคัญในวันนี้ก็คือ จะทำให้ทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมเจรจาใน คณะกรรมการสมานฉันท์ มี “ความเชื่อมั่น” หรือ Trust ในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ได้อย่างไรว่า ท่านมีความจริงใจจะร่วมแก้ปัญหา และยอมถอยเพื่อแก้ปัญหาให้จบ โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะจะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ

ปัญหาต่างๆเริ่มกางออกมาให้เห็นแล้ว

ถ้าทุกคนทุกฝ่าย “รักชาติบ้านเมืองจริง” อย่างที่ประกาศปาวๆ ก็ต้องแสดงจุดยืนออกมาให้เห็น ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ปัญหาของชาติ เพื่อให้เกิดความสงบสุขโดยเร็ว ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะแย่มากกว่านี้ แล้วจะมีนักลงทุนที่ไหนจะเข้ามาลงทุนในประเทศที่วุ่นวายไร้ความสงบสุขแบบนี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”