“ศรีสุวรรณ” ชงข้อสังเกตประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่อขัดมติคณะรัฐมนตรี ขณะพรุ่งนี้เตรียมยื่นร้องฟันทั้งอาญา วินัย ปกครอง
วันที่ 4 ต.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น
มติดังกล่าวส่อพิรุธหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน โดยให้พิจารณาซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน กำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือก เปรียบเทียบวิธีเดิมการพิจารณาจะแยกซองเทคนิค หากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงิน โดยผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดจะได้รับการคัดเลือก ซึ่งการคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิคจะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะจะเป็นการให้น้ำหนักในการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุดก็ได้
ในที่สุดหากเอกชนจะอยู่ได้ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในการสนับสนุนภาระทางการเงิน และหรือการช่วยเหลือค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มอบหมายให้ รฟม. กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ 2562 ของโครงการ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายฯ และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
...
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลง TOR ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือเป็นการขัดต่อมติของ ครม. เมื่อ 28 ม.ค.63 และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 6(3) และมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.การร่วมทุนฯ ประกอบกับข้อ 8(4) ของคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ อีกด้วย ดังนั้นเมื่อ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลง TOR ซึ่งจะยังผลให้ไม่เป็นไปตามมติ ครม. และกฎหมายดังกล่าวแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ตนจึงจะนำความไปร้องเรียนและสอบถามต่อ ครม. เพื่อบอกกล่าวและตั้งประเด็นพิพาทไว้ว่า หากในที่สุดแล้วผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ ครม. หรือหน่วยงานใดจะต้องรับผิดชอบทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางปกครอง โดยสมาคมฯ จะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันที่ 5 ต.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล.