การระบาดโควิด-19 ในประเทศเมียนมา มีศูนย์กลางกระจาย
เชื้ออยู่ “นครย่างกุ้ง” ที่มีแนวโน้มรุนแรง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มแบบก้าวกระโดดแซงหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว
และเริ่มขยับประชิดเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น กลายเป็นปัญหาค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวชายแดนติดต่อกันยาวไกลกว่า 2,400 กม. ทั้งยังมีประชาชน 2 ประเทศ คงเดินทางข้ามชายแดนไปๆมาๆ กันอยู่ตลอด สิ่งนี้ย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยงของ “ผู้ติดเชื้อโควิด–19” หลุดเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่ตลอดเวลา
เรื่องนี้ “รัฐบาลไทย” ต้องเพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังที่ด่านชายแดน ในการจับตาแรงงานต่างด้าวลอบหนีเข้าเมืองอย่างเข้มงวด มิเช่นนั้น “ผู้ติดเชื้อ” อาจจะกระเส็นกระสายมาในประเทศไทยก็ได้ โดยเฉพาะ “จังหวัดสุ่มเสี่ยงแหล่งอาศัยแรงงานเมียนมาอาศัยอยู่หนาแน่น” ตามกระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ 2 กลุ่ม คือ
...
กลุ่มแรก...“จังหวัดแนวชายแดน” เช่น ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กลุ่มที่สอง... “จังหวัดที่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย” ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชลบุรี
จังหวัดเหล่านี้กำลังตกเป็นเป้าหลักที่ “โควิด–19 จะเข้าเจาะไข่แดง” กลายเป็นความท้าทายของประเทศไทยขณะนี้โดย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ก็ได้สำรวจมีการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม “จากมือถึงมือ” สู่พี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชา
ในพื้นที่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด เชียงใหม่ แม่สอด ตาก ราชบุรี สระแก้ว สมพงค์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิฯ บอกว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว 3 กลุ่มหลัก คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา มักนิยมอยู่กันรวมเป็นกลุ่มใหญ่กระจุกตัว
แต่ในช่วงตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงปัจจุบันนี้ “โชคดี” ไม่มีการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว สาเหตุจาก “สาธารณสุขไทย” ปูพรมลงพื้นที่แหล่งชุมนุมแออัดของแรงงานกันอย่างทั่วถึง เพราะ “รัฐบาลไทย” ถอดบทเรียนกรณีศึกษาในประเทศสิงคโปร์ ที่ระบาดระลอก 2 ที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวเป็นผู้กระจายเชื้อครั้งนี้
อีกทั้งส่วนหนึ่ง...ก็เป็นเพราะการดำเนินชีวิตแรงงานต่างด้าวในไทย ต่างตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการป้องกัน ดูแล ปฏิบัติตนตามหลักชีวิตวิถีใหม่อย่างเข้มงวด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อออกนอกที่พัก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจาก “รัฐบาลไทย” เหมาะสมหลายช่องทาง
โดยเฉพาะ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่หนาแน่น ใช้มาตรการป้องกันอย่างจริงจัง ทั้งให้ความรู้ ตรวจคัดกรอง การเฝ้าระวังแรงงานผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น เช่น จ.สมุทรสาคร หากใครไม่ใส่หน้ากากออกจากบ้าน ต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นต้น
ส่วน “ภาคอุตสาหกรรม” ในภาคโรงงานส่งออก มีมาตรการป้องกัน คัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือก่อนเข้าทำงาน ทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา ในบางโรงงานออกตรวจเฝ้าระวังถึงแหล่งพักอาศัยเพิ่มเติมด้วยซ้ำ
ปกติแล้ว...“ชีวิตแรงงานต่างด้าวในไทย” ส่วนใหญ่ทำงานเสร็จก็กลับที่พักเป็นหลัก เพราะมุ่งทำงานเก็บเงินเท่านั้น มักอยู่กันเป็นที่ไม่ค่อยไปไหนมาไหน ในบางครั้งก็อาจออกไปจับจ่ายซื้อสิ่งของจำเป็น หรือซื้ออาหารมากินร่วมกันบ้าง แต่มีน้อยมากเห็นไปนั่งกินข้าวในร้านอาหาร ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อนี้
ประเด็น...“สุ่มเสี่ยงโควิด–19 ในแรงงานต่างด้าว” คงต้องพุ่งเป้าไปในกลุ่ม “แรงงานเมียนมา” เพราะประเทศต้นทางยังมีการระบาด “กระจายทุกรัฐ” ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติเข้ามาในไทย ที่เรียกกันว่า “ช่องทางแมวลอดรั่วไหล” ในการหลบเลี่ยงสายตาเจ้าหน้าที่ไทยเข้ามาเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้
ปัจจัยลักลอบเพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุจาก “เมียนมาล็อกดาวน์” ส่งผลให้ประชาชนเมียนมาต่างอยู่กันด้วยความลำบาก ที่ต้องเจอปัญหารุมเร้าตกงาน และขาดรายได้ กลายเป็นแรงผลักดันให้ดิ้นรนเข้ามาสู่เมืองไทยมากขึ้น ด้วยการผ่าน “กลไกขบวนการนายหน้า” ทั้งนายหน้าคนไทยสมรู้ร่วมคิดรู้เห็นเป็นใจกันกับนายหน้าต่างชาติ
ตอนนี้เท่าที่ทราบ...“นายหน้า” มีการเตรียมแรงงานเมียนมาไว้เต็มสต๊อกล้นออเดอร์ด้วยซ้ำ เพื่อเตรียมนำพาผลักดันลักลอบเข้ามาในประเทศไทย
โดยเฉพาะช่องทางธรรมชาติพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เช่น ด่านสิงขร บ่อน้ำร้อน สังขละบุรี สามารถเดินข้ามเข้าออกง่ายสะดวก เพราะพวกนายหน้ามักสนใจเฉพาะ “ตัวเงินเป็นหลัก” ที่ไม่สนใจการมีส่วนร่วมป้องกันโควิด-19 อยู่แล้ว ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นตัวเชื่อมส่งเสริม “เชื้อไวรัส” เข้ามาระบาดในไทยระลอกใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ตามข้อมูลก็มีการกล่าวอ้างถึงว่า...“เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางคน” เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้นายหน้านำพาแรงงานเข้ามาในไทย ตาม “ช่องทางแมวลอดรั่วไหล” ที่มีอยู่ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้น แม้ปิดด่านถาวรชั่วคราวแล้วก็ยังมีการลักลอบเข้ามาเช่นเดิม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มงานป้องกันมากขึ้น” สมพงค์ว่า
สำหรับช่วงการระบาดโควิด-19 ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา มีมาตรการเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าออก ในจุดผ่านแดน ช่องทางธรรมชาติ และตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด ทำให้ “ค่าใช้จ่ายต่อหัวให้นายหน้า” มีการอัปราคาเกือบเท่าตัว ถ้าเป็น “แรงงานเมียนมา” เฉลี่ยราคา 12,000-25,000 บาทต่อคน จากเดิม 8,000-12,000 บาทต่อคน
ถ้าเป็น “แรงงานกัมพูชา” ต้องจ่าย 6,000-10,000 บาทต่อคน จากเดิม 4,000-5,000 บาทต่อคน ส่วนใหญ่ผู้ลักลอบนี้มักเป็นแรงงานมีเอกสารทำงานเก่าในไทย แต่ด้วยได้รับผลกระทบการระบาดช่วงแรกๆ ทำให้ “ตกงาน” และต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาตัวเอง เมื่อประเทศต้นทางมีการระบาดหนักก็อยากหนีมาในไทยเช่นเดิม
เมื่อแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาถึง “แผ่นดินไทย” ก็จะใช้เอกสารเดิม ที่ให้คงสถานภาพเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดิม ในการอ้างต่อ “เจ้าหน้าที่รัฐไทย” หากถูกตรวจสอบจับกุม อีกทั้งยังสามารถใช้เอกสารเดิมเข้ามาหางานได้ตามปกติ โดยที่ “นายจ้าง” อาจไม่รู้ด้วยซ้ำ ทั้งยังเข้าใจว่าเป็นแรงงานมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย
สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาน่าห่วงเพราะ...“แรงงานผู้ถือเอกสารเดิม” เข้ามา “ในไทย” ในลักษณะไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย ที่ไม่ผ่านการคัดกรอง ตรวจโรค หรือกักตัว 14 วัน ทำให้ไม่อาจรู้เลยว่า “บุคคลเหล่านี้” รับเชื้อเข้ามาด้วยหรือไม่ ในการย้ายถิ่นข้ามชาติแบบนี้มีโอกาสนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาระบาดในไทยระลอกใหม่ก็ได้
นอกจากนี้ก็ยังมี “แรงงานชุดใหม่” ที่ต้องการหนีการระบาดโควิด-19 และความยากจน ในประเทศเมียนมา อีกกลุ่ม คือ “แรงงานเอ็มโอยู 6 หมื่นคน” ตามโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ก่อนการระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถเข้ามาได้ในช่วงนี้ ทำให้ต้องมีการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ
ถ้าหากเปรียบเทียบกับ “แรงงานนำเข้ามาใหม่” ถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนสูง ทั้งค่าดำเนินการ จดทะเบียน ค่าตรวจสุขภาพ ค่ากักตัว 14 วัน หรืออาจเสียค่านายหน้าด้วย ที่รวมเฉลี่ยที่ต้องจ่ายเงินราว 35,000–50,000 บาทต่อคนด้วยซ้ำ...
ปัจจุบัน “ประเทศไทย” มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนทั้งหมดราว 2.6 ล้านคน และมีแรงงานตกหล่นอยู่ใต้ดินอีกประมาณ 1.3 ล้านคน ในช่วงนี้หากต้องการแรงงานผลักดัน “ภาคเศรษฐกิจไทย” อาจต้องดึงเอาแรงงานตกหล่นอยู่ใต้ดินนี้ขึ้นมาให้ถูกต้องตามกฎหมายดีกว่าจะนำเข้าแรงงานใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19
ตอกย้ำว่าการป้องกันโควิด-19 “รัฐบาลไทย” มีมาตรการเชิงรุกในกลุ่มพี่น้องแรงงานต่างด้าวได้อย่างดี แต่ยังขาดเรื่องความช่วยเหลือ “ด้านมนุษยธรรม” ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งที่ทุกคนมีความลำบากไม่น้อยกว่าคนไทย โดยเฉพาะ “แรงงานบางคน” ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
ซึ่งถูกจัดให้เป็น “กลุ่มตกขอบ” ทั้งที่ล้วนเป็นกำลังสำคัญผลักดัน “ภาคเศรษฐกิจไทย” ในฐานะผู้เข้ามาทดแทนงานที่ไม่เป็นที่ต้องการของคนไทย เพราะค่าแรงที่ถูกไม่ต้องจัดหาสวัสดิการมากเช่นคนไทย กลับถูกมองข้ามต้องหวังความเมตตาจาก “ผู้ว่าฯพื้นที่” ในการช่วยเหลือแบบได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้พวกเขารู้สึกน้อยใจอยู่เช่นกัน
ย้ำว่า “นายจ้าง” คือ “กลไกสำคัญ” ในระบบป้องกันแข็งแรงที่สุด ที่ต้องจดแจ้งข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดไวรัส “โควิด–19” จากกลุ่มลักลอบเข้าประเทศ.