“เชาว์” บี้ สตช.-อสส. เอาผิด คดีบอสใหม่ ประเด็นกระบวนการสมยอมทำสำนวนไม่สุจริต ยกเข่ง หลัง กก.ชุดวิชา ปิดจ๊อบ หวั่น ตั้งเรื่องไม่เข้าเกณฑ์รื้อคดีใหม่ กลายเป็นล้มคดีถาวร ชี้ กมธ.กฎหมาย สนช. แทรกแซงคดี ต้องรับผิดด้วย
วันที่ 2 ก.ย. 2563 นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง บทสรุปคณะกรรมการชุด วิชา มหาคุณ โจทย์ใหม่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ต้องมีคำตอบ และนายยกรัฐมนตรีต้องจัดการเด็ดขาด อย่าเป็น "มวยล้มต้มคนดู" มีเนื้อหาระบุว่า จบภารกิจ 30 วัน สอบปฏิบัติการสมคบคิดล้มคดี นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ไปแล้วสำหรับคณะกรรมการชุดที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ได้บทสรุปครบถ้วน ผมคิดว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดต้องมีคำตอบ
ประเด็นแรก คือ การเอาผิดกับกระบวนการสมคบคิดทั้งยวง เรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการสรุปความผิด 20 ตำรวจที่ทำคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ชงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาโทษ แต่จนถึงขณะนี้ยังไร้ความคืบหน้าว่ามีบทลงโทษแต่ละรายอย่างไร ซึ่งจะต้องนำข้อมูลส่วนนี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วย นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังต้องพิจารณาบทสรุปของคณะกรรมการชุดนายวิชาว่า มีอะไรที่เพิ่มเติมไปจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจหรือไม่ และจะจัดการอย่างไร
ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งของอัยการสูงสุด ตั้งคณะทำงานตรวจสอบความเห็นและดุลพินิจของ นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่เป็นผู้สั่งไม่ฟ้องคดีนายบอส ว่า เป็นไปโดยชอบ หรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม ต่อมา นายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะทำงานชุดนี้ ได้ยื่นหนังสือลาออก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เพื่อเปิดโอกาสให้อัยการสูงสุด ตั้งกรรมการชุดใหม่ตามระเบียบใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีคำชี้แจงใดๆ เพิ่มเติมจากสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หรือยัง ถ้าตั้งแล้วมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งในขณะนี้อาจเรียกได้ว่า ไม่มีความสำคัญแล้ว เพราะควรนำบทสรุปของคณะกรรมการชุด นายวิชา มาดำเนินการต่อ จัดการกับคนทำผิดอย่างเด็ดขาด แม้นายเนตร จะชิงลาออกไป ทำให้ไม่สามารถเอาผิดทางวินัยได้ เนื่องจากลาออกก่อน ที่จะมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่คดีอาญายังอยู่ คณะกรรมการอัยการ ต้องเร่งพิจารณาและดำเนินคดีอาญาทั้งมาตรา 157 กฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ กับนายเนตรโดยเร็ว เพื่อพิสูจน์ว่าไม่อุ้มคนผิด เรียกศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา
...
นอกจากนี้ ต้องมีการเอาผิดกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจของ สนช.ทั้งชุด เพราะพวกท่านปล่อยให้มีการใช้กลไกรัฐสภาเป็นเครื่องมือแทรกแซงการทำงานของตำรวจ และอัยการ ปล่อยให้คณะทำงานที่กรรมาธิการฯตั้งขึ้น ไปทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวน ใช้ดุลพินิจสร้างพยานหลักฐานใหม่ เปลี่ยนรูปคดี แม้จะอ้างว่า อัยการสูงสุด ในขณะนั้น ไม่ได้คล้อยตาม แต่สุดท้ายพยานหลักฐานที่ชงขึ้นไปถูกใช้เป็นประโยชน์ในการสั่งไม่ฟ้องคดี จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ผมเสียดายที่มีกรรมาธิการหลายคน ที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทักท้วงให้ถึงที่สุด จะมีคนที่พยายามทักท้วงหนักแน่นที่สุดก็คือ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ซึ่งในบันทึกการประชุมวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ถึงกับระบุในตอนหนึ่งว่า ถ้าเป็นคดีทั่วไป เราจะไม่รับวินิจฉัย เพราะถือเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ ถ้าเรารับไว้ก็จะเป็นบรรทัดฐานว่า คดีอื่นๆ ทำนองเดียวกัน ก็ต้องรับวินิจฉัยทำนองเดียวกัน และยังมีอีกหลายจุดที่ท่านพยายามทักท้วง เช่น เนื้อหารายงานที่ปรากฏหลักฐานใหม่หักล้างข้อเท็จจริงเดิม จนสามารถหักล้างคำสั่งฟ้องเดิมได้ ส่วนคนอื่นๆ ว่าไปตามน้ำทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องรับผิดชอบผลกรรมที่ร่วมกันกระทำด้วย
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ประเด็นที่สอง เรื่องการฟ้องคดีนายบอสใหม่ ผมเคยแสดงความเห็นไว้แล้วว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการรื้อคดีโดยอ้างเรื่องความเร็วรถ เพราะเป็นข้อมูลเก่า ที่เคยปรากฏในสำนวนที่มีการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว หากดึงดันที่จะใช้เรื่องนี้มาเป็นเหตุฟ้องคดีใหม่ ก็เหมือนยื่นดาบให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้ข้อกฎหมายว่า เป็นการฟ้องโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ โดยในขณะนั้นผมเสนอว่า ควรรอบทสรุปจากคณะกรรมการชุดนายวิชา เพื่อนำมาใช้เป็นเหตุในการฟ้องคดีใหม่ และตอนนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้แล้ว เนื่องจากมีข้อยุติในกรรมการชุดนี้ อย่างชัดเจนว่า กระบวนการจัดทำสำนวนไม่ชอบ มีกระบวนการสมคบคิด ที่นายวิชา เรียกว่า “กระบวนการทำสำนวนสมยอมไม่สุจริต” ซึ่งอัยการควรนำเรื่องนี้มาเป็นเหตุว่า กระบวนการทำสำนวนและการสั่งคดีไม่ชอบ โดยควรลงลึกต่อว่า พยานหลักฐานชุดที่นายเนตร ใช้เป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องนั้นถือเป็นพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ เพราะมีความชัดเจนว่า มีการแต่งพยานขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายจำเลย เพราะฉะนั้น การฟ้องคดีใหม่โดยใช้บทสรุปของคณะกรรมการชุดนายวิชาที่ชี้ว่า กระบวนการทำสำนวนและการสั่งคดีไม่ชอบจึงถูกต้องที่สุด อย่าเอาสีข้างเข้าถูรื้อคดีด้วยเรื่องเดิม เพราะถ้าไปถึงศาลแล้วศาลเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์กฎหมายในการรื้อคดีขึ้นสอบสวนใหม่ ตามป.วิอาญามาตรา 147 เรื่องมันจะยิ่งยุ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอีกครั้ง พร้อมคำถามว่า จงใจรื้อคดีใหม่แบบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเพื่อล้มคดีแบบถาวรหรือไม่
“บทสรุปของกรรมการชุดนายวิชา จึงมีเวลาไม่มากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด ต้องรีบตอบและลงมือทำอย่างตรงไปตรงมา และสังคมกำลังรอดูว่า นายกรัฐมนตรี จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้อย่างไร หรือปล่อยให้ผ่านๆ ไปเป็นมวยล้มต้มคนดู” นายเชาว์ ระบุ.