ลุ้นอีกเฮือก หลุด-ไม่หลุด ส.ส. ที่สุด กกต.ก็มีมติเห็นชอบที่จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ประชาธิปัตย์ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ในคดีทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราชตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกับน้องชายและได้ประกันตัวและต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์
มีประเด็นว่านายเทพไทยต้องพ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ยังคงเป็น ส.ส.ต่อไปเนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด
แต่ก็มีการมองว่า น่าจะต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.เพราะขาดคุณสมบัติไปแล้ว จึงทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้
ซึ่งเรื่องนี้ความรับผิดชอบที่จะชี้ขาดก็คือ กกต.ตอนแรกมีข่าวว่าจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่กล้าฟันธง
นี่แหละคือปัญหาอย่างหนึ่งของกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน
ต้องมีการตีความกันแทบทุกเรื่อง จนไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว
รัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังดำเนินการถึงขั้นที่จะยกร่างกันใหม่ ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิจารณากันให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที
อย่างกรณีอย่างนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่และซับซ้อนอะไรมากนัก เมื่อ ส.ส.กระทำความผิดก็ควรจะมีบทลงโทษที่มองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะ ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งการกระทำความผิดก็ต้องว่ากันอย่างตรงไปตรงมา
ผิดกับชาวบ้านทั่วไปที่ค่อนข้างจะชัดเจนหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็ต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้
ที่สำคัญก็คือ ส.ส.เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าประชาชนอยู่แล้วในหลายเรื่อง
เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษหนักกว่าด้วยซ้ำไป
ดังนั้น ด้วยความชัดเจนตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกำหนดเอาไว้ไม่ใช่ดิ้นไปดิ้นมาอย่างนี้
อย่างศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจสิทธิ์เด็ดขาดในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งทางกฎหมายควรจะพิจารณาในประเด็นใหญ่ๆ และมีความสำคัญมากกว่า
ตรงนี้แหละที่จะต้องตอกย้ำว่าทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งทางการเมืองและทำให้องค์กรอิสระมักจะถูกโจมตีว่าสองมาตรฐาน
ถ้าคนของรัฐบาลหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด ก็จะถูกฝ่ายค้านมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ตรงกันข้าม หากฝ่ายค้านไม่ผิดก็จะบอกได้รับความเป็นธรรมขอบคุณ
ปัญหาเหล่านี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ “ศักดิ์สิทธิ์” จริง และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด
แม้จะเป็น “องค์กรอิสระ” และมีกระบวนการแต่งตั้งเพื่อจะได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ เป็นกลาง โปร่งใส แต่มักจะถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐเสมอๆ
ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้การกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญจึงควรจะพิจารณาให้ถ่องแท้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่อิสระได้จริงๆ
นี่ก็คือปัญหาหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม.