ยังอีกนาน เกาหลังกันก่อน 1 ก.ย. 69 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดประเด็นด้วยการเสนอให้แก้ไข ม.256 เพื่อเป็นเข้าสู่ช่องทางจากประตูที่ปิดล็อกอยู่
มีข้อแม้สำคัญคือไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2
กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ซึ่งมีที่มาจากการเลือกระดับจังหวัดจำนวน 150 คน
อีก 50 คน มาจากสัดส่วนของ ส.ส. 10 คน และ ส.ว. 10 คน 20 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีเลือกจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์จำนวน 20 คน และตัวแทนนิสิต นักศึกษาอีก 10 คน
กำหนดยกร่างให้แล้วเสร็จใน 240 วัน
ถ้าว่ากันตามรูปกระบวนการต่างๆ แล้วกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคลอดออกมาได้คงต้องใช้เวลาถึง 2 ปี
ทั้งนี้เมื่อยื่นสภาแล้วประธานสภาจะรวบรวมญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพราะยังมีพรรคฝ่ายค้านที่ได้ยื่นไว้แล้วและยังมีอีกส่วนหนึ่งคือพรรคก้าวไกล ซึ่งได้ถอดรายชื่อจากญัตติก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นเพียงไม่กี่นาที
เหตุผลก็เพราะเห็นว่าแนวทางไม่ตรงกันโดยเฉพาะการไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 จึงต้องการที่จะยื่นเองแต่เสียงไม่พอที่จะต้องเสนอเองได้จึงต้องหาหนทางด้วยการให้มีการเข้าชื่อถึง 5 หมื่นคนจึงจะยื่นญัตติได้
หรือกำลังพยายามที่จะล็อบบี้พรรคฝ่ายค้านร่วมเพื่อให้ลงชื่อสนับสนุน
แต่จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่สภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขจากญัตติต่างๆ เพื่อรวบรวมให้เป็นญัตติเดียวกันในวันที่ 23-24 ก.ย.63
แน่นอนว่าแม้ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ยังมีประเด็นที่มีความแตกต่างกันหลายปมหลายประเด็น
แนวคิดสำคัญๆก็คือต้องการให้มีการแก้ไขทั้งฉบับไม่ใช่เป็นรายมาตรา ในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ยังมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ด้านหนึ่งต้องการให้ยกเลิก ส.ว.ทั้งหมด อีกด้านหนึ่งเห็นว่ายังต้องเก็บเอาไว้มิฉะนั้นจะทำให้การแก้ไขต้องเจออุปสรรค...นี่เป็นเรื่องของความเห็นต่าง
...
หรือแม้แต่ที่มาของ ส.ส.ร.ก็ยังเห็นไม่ตรงกัน
ประเด็นนี้คงต้องถกเถียงกันไม่น้อย เพราะถ้าว่าตามรัฐบาลอาจจะทำให้ ส.ส.ร. เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ทำให้เนื้อหาต่างๆ จะเป็นฝ่ายกำหนดเอง
ยิ่งการใช้เวลาดำเนินงานถึง 2 ปี เท่ากับทำให้รัฐบาลตีกรรเชียงหนีปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นไปได้อีกระยะหนึ่งและทำให้สามารถตั้งหลักมีเวลาคิดหากระบวนท่าเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป
ที่สำคัญก็คือจะให้คำตอบแก่ทุกฝ่ายว่ารัฐบาลได้ทำตามข้อเรียกร้องแล้ว
ว่าไปแล้วญัตติของรัฐบาลในเรื่องนี้ถือว่าไม่ธรรมดาซึ่งต้องผ่านการสังเคราะห์มาเป็นอย่างดีด้วยการประเมินสถานการณ์และความเป็นไปอย่างรอบด้าน
พูดง่ายๆก็คือทั้งรับ–ทั้งรุกในกระบวนท่าเดียวกัน
ที่พอจะยกมาเป็นรูปธรรมก็คือการยอมให้มี ส.ส.ร. แต่ที่มานั้นมีความได้เปรียบอยู่ในตัวและทำให้การชุมนุมขาดความชอบธรรมเมื่อยอมรับข้อเสนอแล้ว
การขีดเส้นห้ามแตะต้องหมวด 1-2 นั้นก็ถือธงนำเพราะนอกจากฝ่ายค้านก็เห็นไม่ตรงกันเพราะพรรคก้าวไกลมุ่งหวังตรงนั้นเนื่องจากเห็นว่าตรงนั้นคือปัญหาของประเทศ
เมื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขก็จะรู้กันได้เลยใครมีจุดยืนตรงไหนอย่างไรแยกกันอย่างชัดเจนที่จะทำให้สังคมรู้ว่าจะสนับสนุนฝ่ายไหนเพราะตอนนี้ก็ตั้งป้อมกันอยู่แล้ว
“ต้องจบที่รุ่นเรา”–“ไม่ให้จบที่รุ่นเรา”...คือหนังตัวอย่าง!
“สายล่อฟ้า”