ตัวแทน 2 กลุ่มผู้ชุมนุม ยันไม่หมดกำลังใจ หลัง "แกนนำคณะประชาชนปลดแอก" ทยอยโดนรวบ เชื่อมีคนใหม่พร้อมขึ้นต่อสู้ 

วันที่ 20 ส.ค. ในรายการ "ถามตรงๆ กับจอมขวัญ" ทางช่องไทยรัฐทีวี มีการพูดคุยกันในหัวข้อ "รวบแกนนำม็อบ จำกัดเสรีภาพ?" หลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการควบคุมตัว "ฮอคกี้" แร็ปเปอร์เจ้าของเพลง "ประเทศกูมี" พร้อมกับแกนนำคนอื่นๆ ที่ไปร่วมในการชุมนุมประชาชนปลดแอก และการชุมนุมอีกหลายครั้ง

ซึ่งวันนี้เป็นการพูดคุยกับ นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก, นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว และ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

เมื่อถามถึงการชุมนุมที่ผ่านมา นายกานต์นิธิ ระบุว่า ตอนนี้ตนโดนหมายเรียก ซึ่งตนเป็น 1 ใน 31 คน ที่มีรายชื่อออกมาก่อนหน้านี้ ก็จะไปตามหมายเรียกในวันที่ 28 ส.ค.นี้ พร้อมกับเพื่อน ซึ่งทั้ง 31 คน แบ่งออกเป็นคนที่โดนหมายจับ และหมายเรียก แต่ไม่รู้ว่าใครโดนหมายอะไรบ้าง แต่ตอนนี้ก็โดนไปแล้ว 6 คน โดยสถานการณ์ตอนนี้ก็ต้องคอยเช็กสมาชิก วางแผนรับมือ แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีทนาย หรือตัวแทน ส.ส.มาประกบ 

เมื่อถามว่า นายลภนพัฒน์ ถึงการชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีภาพการไล่ รมว.ศธ. ไปนั่งต่อแถว นายลภนพัฒน์ บอกว่า เมื่อวานก็ถือว่าเป็นไปตามจุดประสงค์ระดับหนึ่ง แต่เป้าหมายสูงสุดของการไปชุมนุมคือ ต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการออกมาปกป้องนักเรียนไม่ให้ถูกคุกคาม ซึ่งก็ต้องดูว่ายังมีนักเรียนที่ถูกคุกคามอยู่อีกหรือไม่

ส่วนเรื่องที่สั่งให้ รมว.ศธ. ไปต่อแถวนั้น เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ รมว.ศธ. ออกมาแล้ว ก็มุ่งเข้ามาบริเวณเวที แต่เราไม่ให้พูด เพราะท่านพูดเยอะแล้ว และอยากให้ฟังเราบ้าง ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำได้คือ ถ้าจะฟังต้องไปต่อแถว เหมือนนักเรียนทุกคน ที่มานั่งรออยู่ตั้งแต่ก่อนบ่าย 3 ซึ่งเราไม่ต้องการให้ขึ้นเวทีอยู่แล้ว ขอพื้นที่ให้เราได้พูดบ้าง ถ้าอยากฟังเราพูด ก็ต้องไปต่อแถว จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์เมื่อวาน หลังจากนี้จะมีอีกไหม ซึ่งระลอก 2 คงมีแน่นอน เพราะ รมว.ศธ. ก็เพิ่งบอกว่า จะเชิญเราเข้าไปคุยอีกรอบ เราก็ต้องรอดูว่าการเชิญไปคุย จะมีจดหมายเชิญหรือไม่ หรือแค่บอกผ่านสื่อ เพราะหมายถึงการแสดงความจริงใจได้

...

เมื่อถามว่าการเข้าไปจับผู้ชุมนุม เป็นวิธีปฏิบัติที่แข็งไป ไม่รัฐศาสตร์ต่อสถานการณ์หรือไม่ นายศรีสุวรรณ ชี้แจงว่า โดยข้อกฎหมายมี 2 ประภท คือ การออกหมายเรียก สงสัยผู้ใดที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือถูกแจ้งความ ก็สามารถใช้หมายเรียกได้ หรือบุคคลใดที่คิดว่าออกหมายเรียกแล้ว อาจจะหลบหนี หรือทำการอื่นใดที่เจ้าพนักงานไม่สามารถจับกุมได้ ก็ไปขอศาลออกหมายจับ เมื่อพบเห็นที่ไหนก็สามารถจับได้เลย

ส่วนวิธีปฏิบัติต่อบุคคลที่มีหมายจับ ก็สามารถเข้าไปจับได้เลย กฎหมายไม่ได้มีข้อห้ามว่าให้ไปจับตอนที่อยู่คนเดียว หรือไม่อยู่ต่อหน้าครอบครัว แต่ขั้นตอนก็คือ จะต้องบอกกล่าวผู้ถูกกล่าวหาว่า มีข้อกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องบ้าง ก็จะไปอ่านให้ฟัง และคุณสามารถหาพยาน หาทนายความ ในการที่จะมาประกบในการสอบสวนของเจ้าพนักงานได้ ไม่มีการใช้กำลังเว้นแต่มีการขัดขืน 

เมื่อถามว่า มีวิธีที่ดูละมุนละม่อมกว่านี้หรือไม่ โดยใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาช่วย เนื่องจากเรามีม็อบมาแล้วหลายครั้ง นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ทางที่ละมุนละม่อนที่สุดคือ การที่ตำรวจทำสำนวนให้เรียบร้อย เพราะเมื่อทำสำนวนและออกหมายเรียก เพื่อให้ตกลงกันได้ว่า จะมาตามหมายเรียกวันไหน แต่เรื่องหมายจับ ตนมองว่าเร็วเกินไป เพราะปกติ ป.วิ อาญา ต้องออกหมายเรียกก่อน 2 ครั้ง ถ้า 2 ครั้งไม่มา หรือเงียบหาย ก็ออกหมายจับได้ทันที 

ในมุมของคนที่ถูกบังคับใช้กฎหมาย นายกานต์นิธิ ระบุว่า บางข้อกฎหมายที่ตนถูกหมายเรียกพอเข้าใจได้ แต่ข้อหาที่บอกว่าตนไปยุยง ปลุกปั่น ตาม ม.116 ตนว่าแรงไปหน่อย เพราะเราไม่มีอาวุธ และความสามารถมากมายขนาดนั้น และการที่มีรายชื่อออกมา 31 คน โดยค่อยๆ ปล่อยมาทีละคน ว่าคนนั้นโดนหมายจับ คนนี้โดนหมายเรียกให้หวาดเสียวเล่น ตอนนี้พวกตนก็อยู่ไม่สุขแล้ว แต่เราก็มีการเตรียมการในเรื่องของทนายบ้างแล้ว แต่คงบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่ตนกำลังตั้งคำถามถึงต้นทางว่า ทำไมบางคนโดน บางคนไม่โดน มาตรฐานการใช้กฎหมายอยู่ตรงไหน จึงอยากเรียกร้องตรงจุดนี้มากกว่า 

ด้าน นายลภนพัฒน์ ระบุว่า ตนยังไม่โดนหมายอะไร แต่อ้างว่าตอนนี้มีนักเรียนคนหนึ่งโดนแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นหมายจับ หรือหมายเรียก ซึ่งเป็นคนที่มาร่วมชุมนุมกับคณะประชาชนปลดแอก โดยไม่ได้ขึ้นเวที ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร และยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ก่อนที่ นายลภนพัฒน์ จะอ้างในภายหลังว่า นักเรียนคนดังกล่าวถูกหมายจับ

เมื่อถามว่า คนที่มีหมายจับ ไปนั่งรอให้จับ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่จับ นายกานต์นิธิ เล่าว่า หลังจากที่แกนนำไปมอบตัวหลังจากจบเวทีการชุมนุมในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จับ กระทั่งวันนี้มีการมาไล่จับทีละคน แบบนี้ตนมองว่าเป็นเหมือนการกลั่นแกล้ง ซึ่งพวกตนเชื่อว่า หากมีใครโดนจับ ก็จะมีคนข้างหลังขึ้นมาเป็นแกนนำแทน เมื่อถามว่าห่วงตัวเองหรือไม่ ก็ห่วง ห่วงพ่อแม่ด้วย แต่ด้วยศักยภาพของพวกตนเชื่อว่า หางานทำได้ไม่ยาก 

เมื่อถามว่า ตัวเองยังเป็นนักเรียนอยู่ ยังขอเงินพ่อแม่อยู่ เรื่องพวกนี้รอให้เรียนจบแล้ว มีสิทธิ์เลือกตั้งก่อน ออกไปเป็นผู้ใหญ่ก่อน ค่อยทำได้หรือไม่ นายลภนพัฒน์ บอกว่า ไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกับเด็กคนไหน เด็กก็เป็นประชาชนคนหนึ่งหรือเปล่า เพราะก็อยู่ในสังคมเดียวกัน ขณะที่คุณพูดได้ แต่ทำไมเราพูดไม่ได้ ซึ่งการเมืองเป็นเรื่องของสังคม ถ้าอยากมีสังคมที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี เราอยากได้ เราก็ต้องเรียกร้อง คุณภาพชีวิตที่ดี ถ้ามันได้ มันได้กับทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นมันไม่ควรเป็นเรื่องของผู้ใหญ่อย่างเดียว 

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ ระบุว่า สังคมต้องมีกฎเกณฑ์ ถ้าบอกว่าทุกคนเสรี เด็กที่เพิ่งเกิดออกมา ก็ต้องเดินไปเลือกตั้ง ดังนั้นถึงต้องมีกฎเกณฑ์ว่า อายุ 18 ปี ถึงจะได้เลือกตั้ง แต่เรื่องนี้รัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชนให้มากขึ้น ตัวแทนประชาชนก็ต้องฟังมากขึ้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งตนเห็นมาตลอดตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 40 และตนก็เชื่อว่า รัฐธรรมนูญ 60 ก็คงไม่ได้อยู่นาน เดี๋ยวก็ต้องมีคนมาล้มอีก

ถามถึงสิ่งที่อยากจะพูดต่อสถานการณ์ตอนนี้ นายลภนพัฒน์ ระบุว่า การที่ออกมาเรียกร้อง ก็ทำตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่หากพูดถึงข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญ ตนก็คิดว่าค่อนข้างแปลก เพราะเราก็ให้ความร่วมมือกับทางราชการมาโดยตลอด จะจัดกิจกรรมใด ก็ต้องไปขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งชุมนุมตามกฎหมาย ตำรวจก็เข้ามาดูแลความเรียบร้อย แต่พอทำไปแล้ว กลับมาตามเก็บงานทีหลัง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีผลต่อกำลังใจ เพราะหากเราหายไป ก็มีตัวแทนคนใหม่ขึ้นมาอยู่ดี

ส่วนนายกานต์นิธิ ระบุว่า ตนเชื่อว่ากฎหมายก็มีพลวัตรของมัน ถึงเวลามันก็ต้องเปลี่ยน ทุกวันนี้รัฐพยายามที่จะคงกฎหมายบางมาตราเอาไว้ เพื่อที่จะรักษาอำนาจตัวเอง ซึ่งตนว่าไม่โอเค อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การตัดสินคดีความ ในช่วงนี้เราจะเห็นหลายคดีที่ไม่เมคเซนต์ ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งในระยะยาว กฎหมายตรงนี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไขมากๆ และอาจจะต้องบันทึกไว้เลยว่า หากมีการตัดสินคดีในช่วงนี้ อาจจะนำมาเป็นบรรทัดฐานในอนาคตไม่ได้ เพราะมันบิดเบี้ยวไปหมดแล้ว.