สถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้ ร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ จากปม ม็อบ นศ.นัดชุมนุมกดดัน รัฐบาลบิ๊กตู่ อย่างต่อเนื่อง ที่ตอนแรก ออกมาเรียกร้อง 3 ข้อ "แก้รธน.-ยุบสภา-หยุดคุกคามประชาชน" แล้วก็ลุกลามกลายมาเป็นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งต้องยอมรับว่า มีเรื่องอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถาบันด้วย

ทั้งนี้ หนึ่งในข้อเรียกร้องที่ "แหลมคม" ที่สำคัญข้อหนึ่งของม็อบ นศ. คือ การกดดันให้ "ยกเลิก 250 ส.ว." ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มนักการเมืองมองตรงกันว่า 250 ส.ว.เป็นฐานค้ำบัลลังก์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่ช่วงหลังเสียงกดดันให้ลดอำนาจเลือกนายกฯ ของ 250 ส.ว.ยิ่งดูรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่วนจะมีพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางคน พยายามจุดกระแสอยู่เบื้องหลังอย่างที่ลือกันจริงหรือไม่ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ คงไม่ขอกล่าวถึง

...

ในกลุ่ม 250 ส.ว. ล่าสุด มีการหารือกันบ้างหรือยัง?

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวกับ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า ตอนนี้ ส.ว.ยังให้อิสระในการเสนอความเห็น โดยจะขอดูร่างแก้ รธน.ฉบับของสภาผู้แทนราษฎร เขาจะยุติแบบไหนก่อน แล้วก็มาดูร่างฯ แก้รธน.ของรัฐบาลที่จะเสนอด้วยว่าเขาจะว่าไง และยังมีร่างแก้รธน.ที่ประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นชื่ออีก เพราะ ส.ว.ไม่ได้เป็นคนเสนอประเด็นแก้รธน.ตอนนี้ มันก็เลยยังสรุปอะไรไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่เอาไง

เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา

คิดอย่างไร ม็อบ นศ.เสนอให้ลดอำนาจ 250 ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกฯ? 

นายเสรี กล่าวต่อว่า ก็อยู่ที่ว่าเสียงส่วนใหญ่เอาไง ส่วนของ ส.ว.ก็ต้องคำนึง ถึงภารกิจหน้าที่เข้ามาในช่วง 5 ปี ส.ว.ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผม แก้รธน. ก็ไม่ควรแก้ในหมวด 1, หมวด 2 และบทเฉพาะกาล ซึ่งเรื่องอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ อยู่ในบทเฉพาะกาล ความจริงไม่ใช่เรื่องอำนาจเลือกนายกฯ อย่างเดียว เพราะมันมีประสบการณ์ มีตัวอย่างที่ผ่านมา เวลาถึงทางตันหาทางออกไม่ได้ ส่วนอำนาจเลือกนายกฯ นี่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป อย่างการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็ใช้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งเป็นผู้เลือก ก็ไม่จำเป็นถึง ส.ว.ด้วยซ้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯได้ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่วันนี้เป็นเรื่องของสถานการณ์การเมือง ถ้าไปเสนอแก้อย่างนี้ เกิดมีปัญหาขึ้นมาจะทำยังไง

นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา
นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา

ส่วนด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา ส.ว. กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ยืนยันว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่ให้ลดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เราคงไม่ฝืนตรงนั้น อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ส.ว.ยังไม่มีการหารือเป็นคณะใหญ่ ว่าคิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ ยอมรับตอนนี้มีการจับกลุ่มพูดคุยอยู่เหมือนกัน เชื่อวันจันทร์-อังคารนี้ ก็จะมีการพูดคุยกันในกลุ่มระดับหนึ่ง

ส่วนที่ ส.ว.ยังเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งหนุนคงอำนาจ และลดอำนาจเลือกนายกฯ นั้น นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องการช่วงเปลี่ยนผ่าน เท่านั้น 5 ปี ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วย กับการคงอำนาจให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี แล้วการเมืองเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว เอาเป็นว่าก็อยากให้มันเหมาะกับสถานการณ์

มองทางออกของม็อบ นศ.ไว้บ้างหรือไม่ คิดว่ามันจะจบลงตรงไหน? 

นายเสรี กล่าวต่อว่า ในหลักการก็ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน สถานการณ์ม็อบ นศ.ตอนนี้ เราก็เห็นว่า มันก็เหมือนม็อบที่ผ่านมา เป็นม็อบที่เลือกข้างไปเหมือนกัน แม้อ้างเป็น นศ.ก็ตาม เป็นเพียงอ้างเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองเท่านั้น แต่ที่คุยกันในกมธ. ก็เห็นพ้องต้องกันว่า คนที่ทำผิดกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดี เพราะม็อบที่เรียกร้องอยู่มันเกินเลย เลยเถิดไปแล้ว มันเลยกว่าข้อเรียกร้องในช่วงแรก มันเลยไปถึงเรื่องสถาบัน ดังนั้นกฎหมายก็ต้องเข้าไปดำเนินการ ส่วนจับมาแล้วจะมาประกันตัวออกไปก็ไม่เป็นไร 9 ครั้ง 10 ครั้ง ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเห็นได้ว่ากฎหมายต้องถูกขับเคลื่อนบังคับใช้

ขณะ ส.ว.พีระศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ โดยมองว่า ต้องมีหลักความยุติธรรม ที่ไม่ใช่เอาหลักกฎหมายเป็นตัวตั้ง เพราะหลักกฎหมายออกมาในสถานการณ์อะไร บางทีก็อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ในตอนนั้น แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ด้วย ก็ต้องมีหลักเมตตาธรรมในการทำหน้าที่ด้วยครับ

"ยืนยันหลักการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ 5 ปี ผมไม่เห็นด้วยแต่ต้นแล้ว เพราะ ส.ว.ควรจะทำงานอีกด้านหนึ่ง คือการตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล อันนี้เป็นหลักการที่ผมยึดมาตลอด แต่ไม่ใช่ว่าผมไปขัดแย้งกับกลุ่ม ส.ว.ที่เห็นด้วย ให้คงอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ไว้นะ ย้ำ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม" นายพีระศักดิ์ กล่าว

มันจะเสี่ยงเร่งปฏิกิริยาแบบ 14 ตุลาฯ-6ตุลาฯ 19 หรือไม่?

นายเสรี ยอมรับว่า ก็มีความเป็นไปได้ เพราะคนกลุ่มหนึ่งก็มีความพยายามยั่วยุ สร้างสถานการณ์ให้อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้าน ก็มีโอกาสเกิดวิกฤตินี้ได้ อันนี้ก็เป็นแนวทางการเมืองชัดเจน และก็เชื่อว่ากลุ่มคนที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ได้ก็คือกลุ่มนักการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ส่วนผู้ชุมนุม แต่คนขึ้นเวที พูดจาสร้างความแตกแยกในประเทศ ส่วนอาจารย์มหาวิยาลัยเอง ก็ควรเสนอแนวทางเตือนให้กลุ่ม นศ.ระมัดระวัง ไม่ให้พูดเกินขอบเขต ไม่ใช่สนับสนุนให้ นศ.ออกมาพูดสิ่งไม่ควร ขอเน้นครู-อาจารย์ ต้องมีข้อเสนอแนะด้วย

ด้าน ส.ว.พีระศักดิ์ ยอมรับว่า สถานการณ์การเมือง ม็อบ นศ.กดดันรัฐบาลตอนนี้ น่าเป็นห่วง เพราะมีโอกาสซ้ำรอยเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 หรือ 6 ต.ค.19 หรือแม้แต่ "พฤษภาทมิฬ 35" ผมย้ำยึดหลักเดิม เพราะเดี๋ยวนี้การเมืองมันเปลี่ยนไว ส.ว.เราไปยึดหลักที่เป็นสากลไม่ดีกว่าหรือ.

ปิดท้ายที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ว่า ตอกย้ำว่า เมื่อทุกฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันควรรีบเดินหน้าแก้รธน.เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ต้องแก้ทั้งฉบับ ควรคุยกันว่าต้องการแก้ประเด็นใดว่ากันให้ชัดๆ จะได้ ทันสถานการณ์ ไม่ใช่ปล่อยเป็นระเบิดเวลา ตอนนี้สถานการณ์กำลังแรงขึ้น ขืนชักช้าอาจไม่ทันแก้ อะไรทำได้รีบทำก่อนจะสายเกิน

วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา
วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา

"ส่วนตัวเห็นว่า ควรแก้ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ เจตนาขณะนั้นต้องการให้รัฐสภาประคองบ้านเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้กระแทกเร็ว แต่วันนี้ไม่มีเหตุผลที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ วันนี้ไม่มีระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว การเปลี่ยนผ่านดำเนินการมา 1 ปีกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ว.โหวตนายกฯอีก อำนาจที่มาจากประชาชนคือความเข้มแข็งกว่าอำนาจใด"นายวันชัย กล่าว.

ต้องยอมรับ ปม "ยกเลิก-หรือลดอำนาจ 250 ส.ว.เลือกนายกฯ" มัน คือฟันเฟืองชิ้นเล็กๆอันหนึ่ง ที่จะส่งผลสั่นสะเทือนไปถึงเป้าหมายใหญ่ คือ การแก้รธน.ปี 60 เพื่อสกัดรัฐบาล"บิ๊กตู่" ที่แปลงร่างมาจากรัฐบาลคสช.ไม่ให้กลับมามีอำนาจอีกนั่นเอง 

เดี๋ยวก็รู้ มาคอยดูกัน ผลสุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่?.

ผู้เขียน : เดชจิวยี่