แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่ออะไร? ที่ต้องยอมรับอย่างไม่กังขาก็คือเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขจากคลื่นคนรุ่นใหม่ที่กระจายไปทั่วประเทศ
มีน้ำหนักที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญเพราะที่ผ่านมามีเพียงแค่ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเท่านั้น
รัฐบาล ส.ว.และฝ่ายที่สนับสนุนไม่เห็นด้วยหากจำแนกออกมารัฐบาลย่อมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเอื้อต่อการดำรงอยู่ในอำนาจ
ส.ว. 250 คน นั้นแน่นอนอยู่แล้วเพราะก่อเกิดมาจากการแต่งตั้งของ คสช.รวมถึงอำนาจต่างๆที่เป็นผลพวงตามมา
อย่าว่าการร่วมโหวตนายกฯได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะบรรลุได้ก็ต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 83 คนขึ้นไป
พูดง่ายๆว่าเป็นสภาคุ้มครอง คสช.ก็ว่าได้
หรือฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้แก้ปัญหาการเมืองเพราะเลือกตั้งใหม่ก็ได้การเมืองแบบเก่าๆที่อยู่ภายใต้ “ธุรกิจการเมือง”
แต่ละเลยความจริงที่เกิดขึ้นว่าผลผลิตที่มาจากการเมืองในรูปแบบที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดนั้นมันเกิดอะไรขึ้น
คำตอบที่ได้ก็คือ คำตอบที่ว่าทำไมจึงต้องการแก้ไข
ยิ่งวันนี้ที่เห็นกันอยู่แทบทุกฝ่าย ยังต้องยอมรับและเห็นคล้อยร่วมกันว่า จะต้องมีการแก้ไขเพียงแต่ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร วิธีไหนเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ
ด้วยเงื่อนไขตาม ม.256 ที่กำหนดรูปแบบการแก้ไขที่ยุ่งยาก และซับซ้อนเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความยากลำบาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แต่ความจริงทางการเมืองในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง บรรดาวุฒิสมาชิกหลายคนจึงต้องยอมรับและให้การสนับสนุน
เพียงแต่ใครจะแสดงความคิดเห็นไปในทางใดก็จะเป็นตัวชี้วัดอันหมายถึง ตัวตนของเขาว่ามีมุมมองอย่างไร
...
อย่างที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ต้องยอมรับว่า ส.ว.ในสภาหลายคนมักจะแสดงความคิดเห็นคัดค้านการแก้ไขแบบตรงไปตรงมาตลอด
อีกทั้งยังยอมรับว่า สาเหตุมาจากคดีของ “บอส อยู่วิทยา” และการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
“จึงเป็นเสมือนการช่วยเอาฟืนส่วนหนึ่งออกจากไฟ”
เพียงแต่มีการตั้งเงื่อนไขว่า การแก้ไขจะต้องไม่มีผลเป็นการยกเลิก ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลในทันที แต่ต้องให้ดำรงตำแหน่งจบครบวาระ 5 ปี และกระบวนการแก้ไขไม่ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรใช้รูปแบบคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนเพื่อประหยัดงบประมาณ
“ยังป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปบล็อกโหวต”
ว่าไปแล้วก็เป็นเพียงทัศนะของประธานวุฒิสภา ที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการมาตั้งแต่ต้นจนได้ดิบได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งๆที่วุฒิสภาในรูปแบบนี้คือ ส่วนหนึ่งในต้นตอของปัญหาการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
น้ำหนักในความเห็นจึงแทบจะไร้ความหมาย ก็เป็นเพียงแค่ยอมถอยอย่างไว้เชิง และยังหวังต่ออายุตัวเองออกไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น
แต่ดูแล้ว...ไม่โอเค!!
“สายล่อฟ้า”