“วิชา มหาคุณ” เล็งเรียกพยานคดี “บอส อยู่วิทยา” ให้ข้อมูลในวันหยุด ไม่พูดเป็นความบกพร่องของใคร ขอตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อน ชี้ ตั้งคณะกรรมการมาแล้วต้องเกิดประโยชน์

วันที่ 5 ส.ค. 2563 ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเนียบรัฐบาล นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะกรรมการฯ ถึงกรณีที่อัยการแถลงว่า คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 เป็นความบกพร่องเรื่องการทำสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ก็ว่ากันไปในคณะกรรมการแต่ละชุด แต่คณะกรรมการของเราจะดูทั้งหมดว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ซึ่งจะต้องนำข้อมูลที่ตำรวจสอบมาแล้วมาดูด้วย พร้อมตอบคำถามดังนี้

จะมีการเรียกพยานที่เคยสอบปากคำแล้วมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่

  • อยู่ในระบบตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งการประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้จะพิจารณาว่าจะเรียกพยานเหล่านี้มาให้ข้อมูลเมื่อใด บางทีอาจจะต้องสอบกันในวันหยุดด้วยเพื่อให้เสร็จเร็วขึ้น โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจในการเรียกพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากความบกพร่องของอัยการ

  • ในส่วนนี้ยังไม่พูด เพราะเราพูดไม่ได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อน

ระบบตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้มีกี่หัวข้อและอะไรบ้าง

  • ในวันนี้เราจะพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่ง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบกฎหมาย จะเสนอในวันนี้

...

ข้อกฎหมายที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเสนอจะรวมไปถึงอำนาจในการสั่งรื้อคดีของนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

  • เราจะดูในกรอบของกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ และจะหารือว่าเราจะใช้หลักอะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตลอดไปจนถึงข้อบกพร่อง หากมีข้อบกพร่องก็จะต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร คาดว่า นายปกรณ์ คงจะเสนอมาอย่างครบถ้วน

คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้สรุปสุดท้ายว่าจะรื้อหรือไม่รื้อคดีนี้ใช่หรือไม่

  • อย่าไปคาดเดาว่าจะเสนอหรือไม่เสนอ แต่เมื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วคดีไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะตั้งหาประโยชน์อะไร มันไม่มีประโยชน์ ก็ต้องทำให้เป็นมรรคเป็นผล

กรณีที่อัยการยืนยันสั่งไม่ฟ้อง แต่เรียกสอบพยานเพิ่มหมายความว่าอย่างไร

  • ก็สุดแล้วแต่เขา อย่าเพิ่งมาถามตอนนี้ เพราะวันนี้จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อหารือกัน

หากทำงานในวันหยุดด้วย การตรวจสอบจะเสร็จสิ้นก่อน 30 วัน ตามกรอบเวลาใช่หรือไม่ 

  • เราก็ต้องรีบ ส่วนจะเสร็จก่อนกำหนด 30 วันหรือไม่ เราก็ไม่รู้ แต่เราจะทำอย่างเร็วที่สุด.