“วิชา มหาคุณ" แถลงตั้ง 4 คณะทำงานสางคดี “วรยุทธ อยู่วิทยา” สั่ง เรียกทุกสำนวน ตั้งแต่ สน.ทองหล่อ - อัยการ – กมธ.กฎหมายยุค สนช. โยนปลัด ยธ.ตัดสินใจเรียก “บอส” ให้ถ้อยคำหรือไม่ เปิดช่องรับข้อมูลจาก ปชช. หลังมี อัยการ-ตร.อัดอั้นเยอะ
วันที่ 3 ส.ค. เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ที่ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า คณะกรรมการชุดนี้ มีผู้เชี่ยวชาญอยู่หลากหลายสาขา และได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ได้ข้อสังเกตที่ดี เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบในประเด็นที่ละเอียดต่อไป
โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 4 ชุด ได้แก่ 1. คณะทำงานตรวจสอบอัยการ มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เพราะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย 2. คณะทำงานการตรวจสอบตำรวจ มี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธาน เพราะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม 3. คณะทำงานตรวจสอบบุคคลทั่วไป มี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดนี้ จะต้องตรวจสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรรมาธิการ ทนายความ ซึ่งเป็นคนที่ไม่ใช่ตำรวจและอัยการ ขณะที่ผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะร่วมอยู่ในคณะนี้ โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน นอกจากนี้ จะขอผลการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะขอมาดูให้หมด และ 4. คณะทำงานตรวจสอบด้านกฎหมาย มี นายปกรณ์ นิลประพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน
...
นายวิชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงาน ที่มีหน้าที่รวบรวมเอกสาร ทั้งตัวเอกสารหรือสิ่งที่ได้จากโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอ คลิป หรือข้อคิดเห็นจากประชาชนต่างๆ ซึ่งจะเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะมีทีมงานที่เชี่ยวชาญทางไอที และจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาในการทำงาน รวมไปถึงทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ ดังนั้น ถ้าใครต้องการส่งเอกสาร หลักฐาน หรือจะให้ข้อมูลใดๆ แก่คณะกรรมการ สามารถติดต่อมาได้ที่ตน หรือช่องทางที่เรากำลังจะเปิดเพื่อรับข้อมูล หรือว่าคนที่มีความคับข้องใจ ซึ่งมีทั้งอัยการและตำรวจ ที่อยากจะให้ข้อมูลจำนวนมาก เราอยากได้ทุกความเห็น สามารถส่งเข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานแต่ละชุดจะทำงานคู่ขนานกันไปกับคณะกรรมการชุดใหญ่ จะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในช่วงแรกนี้ เนื่องจากมีความเร่งรัดอย่างมาก เพื่อให้เสร็จสิ้นได้ใน 30 วัน โดยคณะกรรมการฯ จะประชุมครั้งต่อไปในเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ส.ค.ที่สำนักงาน ก.พ.เดิม ถ.พิษณุโลก ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล
นายวิชา กล่าวว่า จะมีการขอสำนวนหลักฐานต่างๆ จากอัยการ โดยเฉพาะผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบพิจารณาคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ของอัยการ ที่จะได้ข้อสรุปในวันที่ 4 ส.ค. โดยคณะกรรมการฯ ของเรา จะเชิญฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานตรวจสอบของอัยการมาให้ข้อมูลด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะได้ทุ่นเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่า จะยึดตามนั้นไปตลอด เพราะถ้าข้อมีเพิ่มเติม อะไรจะพิจารณากันอีกที รวมไปถึงสำนวนของตำรวจ ที่ สน.ทองหล่อ ทำมาตั้งแต่ต้น และสำนวนของอัยการที่ทำส่งไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ ด้วย เพราะทุกสำนวนจะต้องส่งมาให้เราทั้งหมด รวมไปถึงประเด็นการเสียชีวิตของ นายจารุชาติ มาดทอง พยานในคดีของนายวรยุทธ ไม่ว่ามีข้อสงสัยอะไรต้องเอามาดูให้หมด แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผลการชันสูตรศพของนายจารุชาติ ต้องรอรายงานจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และกองบังคับการปราบปราม
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเชิญตัว นายวรยุทธ มาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานไปแล้ว คณะทำงานชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณาอีกทีว่า จะเชิญบุคคลใดบ้าง ดังนั้นก็จะต้องดูว่าควรเชิญนายวรยุทธหรือไม่
เมื่อถามว่า หากอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว จะมีช่องทางทำให้เป็นคดีพิเศษได้ หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องศึกษาก่อน ซึ่งในวันที่ 5 ส.ค. คณะกรรมการจะคุยกันในเรื่องข้อกฎหมายอย่างละเอียด เพราะเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับมอบหมายจากตนไปแล้ว
ถามว่า นายกฯ มีอำนาจที่จะสั่งให้ตำรวจไปทบทวนความเห็นที่ไม่คัดค้านกรณีอัยการไม่สั่งฟ้อง ได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ต้องดูว่า หากเสนอแล้วต้องเป็นไปได้ คือ ถ้าเสนอแล้วยังกั๊กอยู่ ติดอยู่ ก็ไม่เอา ย้ำว่า เสนอแล้วต้องเป็นไปได้ สิ่งที่เราเสนอจะต้องเป็นความแน่นอน จะต้องปรึกษากันอีกที