คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจ ต้นเหตุเงินในกระเป๋าไม่พอใช้เพราะโควิด ชมรัฐบาลแก้ปัญหาค่อนข้างดี ตั้งใจทำบุญให้ "บิ๊กตู่" ในวันอาสาฬหบูชา ให้ทำงานได้ฉลุย หนุนขจัดนักการเมืองเข้ามากอบโกยคืนทุน
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ทำบุญสวดมนต์ให้กำลังใจบิ๊กตู่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,332 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงเหตุปัจจัยของวิกฤติเศรษฐกิจประเทศและเงินในกระเป๋าของประชาชนที่ไม่พอใช้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 ระบุโรคโควิด-19 เกิดทั่วโลก ในขณะที่ร้อยละ 17.6 ระบุ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะกัน การแก้ปัญหาของรัฐบาลและประชาชนทำตัวเอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลประเมินภาพรวมการแก้ปัญหาผลกระทบของโควิด-19 โดยรัฐบาล พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.5 ระบุรัฐบาลแก้ปัญหาได้ดีค่อนข้างมาก ถึง ดีเยี่ยม ในขณะที่ร้อยละ 45.5 ระบุค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ดีเลย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.1 ตั้งใจจะทำบุญสวดมนต์ให้กำลังใจบิ๊กตู่ ในวันอาสาฬหบูชานี้ให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ของประเทศผ่านพ้นไปได้อย่างดี ในขณะที่ร้อยละ 42.9 ระบุไม่ทำ อย่างไรก็ตาม เสียงของประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.9 ระบุ นายกรัฐมนตรีควรรักษาคนดีไว้ข้างกาย ทำงานต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 26.1 ระบุ ปล่อยให้มันเป็นไป
...
นอกจากนี้ เสียงของประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.9 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ นายกรัฐมนตรีควรใช้โอกาสนี้ ขจัดนักการเมืองที่จ่ายเงินซื้อเสียงเข้ามาหมดเนื้อหมดตัวไปเลย อย่าให้โอกาสพวกเขาถอนทุนคืน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ข้อมูลกระแสเสียงของประชาชนกำลังเริ่มดีขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลโดยรวมเมื่อประชาชนเห็นชัดเจนว่า ความสามารถของ 3 ป. ผู้ทรงอิทธิพลในการจัดการความวุ่นวายภายในพรรคพลังประชารัฐได้ลงตัวและแยกส่วนการปรับ ครม. เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีที่มีโควตาของนายกรัฐมนตรีในทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและกระทรวงหลักสำคัญ “ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” สมบัติชาติที่ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันเฝ้ารักษาอย่าให้ใครเข้ามากอบโกยเอาไปได้
“ในห้วงเวลานี้ นายกรัฐมนตรีต้องอาศัยพลังบุญและคุณธรรมอย่างแรงของทุกฝ่ายทั้งประเทศช่วยกัน ทำบุญสวดมนต์ให้กำลังใจบิ๊กตู่ ผู้นำของประเทศให้สามารถแก้วิกฤติเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมืองทุกมิติได้สำเร็จเพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำงานการเมืองใหม่ ที่ต้องผ่านการเล่นเกมที่แยบยลแนบเนียน เหมือนจะยอมแต่ไม่ยอมไปกับภาวะตัณหา ความอยากมี อยากเป็น และอยากเปลี่ยนให้ทันใจของทุกฝ่ายเพื่อตนเองและพวกพ้องของพวกเขา แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพลังหนุนของภาคประชาชนว่า ประชาชนทั้งประเทศมองเห็นเหมือนกับที่นายกรัฐมนตรีเห็นหรือไม่”