จากการติดตามการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2564 ของสภาผู้แทนราษฎรในวันแรก ได้รับทราบข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น ส.ส.บางคนอภิปรายว่าแท้ที่จริง งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบประมาณของข้าราชการ และเพื่อราชการมากกว่า เพราะงบประมาณส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐ

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 มีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท มากกว่าปี 2563 เพียง 1 แสนล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 2,562,131 ล้านบาท เท่ากับ 76.5% ของงบประมาณทั้งหมด ตัวอย่างของงบรายจ่ายประจำได้แก่เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการศึกษาดูงานของข้าราชการ เป็นต้น

งบประมาณอีกประเภทหนึ่งเรียกว่ารายจ่ายลงทุน 674,868 ล้านบาท เท่ากับ 20.5% ของงบประมาณทั้งหมด งบลงทุนได้แก่ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตามโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายประจำ 76.5% ของงบประมาณทั้งหมด ส.ส.บางคนจึงเรียกว่าเป็นการจัดทำงบประมาณเพื่อข้าราชการ

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายลักษณะนี้ เป็นประเพณีถือปฏิบัติกันมาช้านาน เนื่องจากข้าราชการเป็นกลไกสำคัญในการบริหารประเทศ ผู้นำในการเปลี่ยน แปลงการปกครอง เป็นข้าราชการ รัฐบาลปัจจุบันก็สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นข้าราชการ ส.ส.บางคนวิเคราะห์ว่ารัฐบาลประยุทธ์ทำงบแบบนี้ติดต่อกันมา 7 ปี นับตั้งแต่ 2558

ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนอภิปรายว่า รัฐบาลนี้หาเงินไม่เป็น ใช้เงินไม่เป็น กู้เงินก็ไม่เป็น บางคนแฉว่านับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์เข้าบริหารประเทศ กู้เงินมาแล้วหลายล้านล้านบาท ใช้หนี้หมดต้องใช้เวลา 70 ปี เมื่อนายกรัฐมนตรีอายุ 136 ปี ส.ส.บางคนจึงยกให้นายกรัฐมนตรีเป็นยอดแห่งหนี้ เป็นบิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ

...

เอกสารการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลได้ระบุถึง 6 ยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณอย่างน่าเลื่อมใส ตามวิสัยทัศน์ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มียุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม

แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุว่า จะปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมไปในทิศทางใด โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมือง จะปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางประชาธิปไตย หรือแนวทางอำนาจนิยม แต่ไม่ว่าจะใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการใดก็ตาม รัฐบาลต้องสำนึกอยู่เสมอว่า ทุกบาททุกสตางค์มาจากประชาชน และประชาชนคนใช้หนี้.