"ครูธัญ" ส.ส.ก้าวไกล ติงรัฐจัดงบฯไม่เท่าเทียม เมินหัวผู้หญิง ซัดเหลื่อมล้ำ จี้ปรับใหม่ สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทยราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เป็นวันที่ 2 โดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายว่า ตนขอตั้งชื่อหัวข้องบฯว่า "งบประมาณที่ไม่เห็นหัวผู้หญิง" อยากให้ประชาชนทุกคนได้ดู เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ตนไม่สามารถเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ของรัฐบาล ซึ่งตนขอเสนอรายละเอียดดังนี้ การจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ไม่เข้าใจความเสมอภาคทางเพศนั้น ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ ประกอบกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง วันนี้คนไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตัวเอง ด้วยการทุ่มเทการทำงาน ที่เป็นทางรอดเดียวของคนในสังคม เพื่อกระเสือกกระสนในการใช้ชีวิต ภายในประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเมื่อเทียบกับรายได้ หากเราพิจารณาจากอัตราการเกิดของประชากรในประเทศ จะพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากช่วงการทำรัฐประหารที่ผ่านมา อัตราการเกิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศในระยะยาว โรงเรียนจะปิดตัว ครูจะตกงาน เราจะไม่มีแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นพลังสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้กับประเทศไทย

"หากไม่แก้ไขและไม่เข้าใจความเท่าเทียมทางเพศ นี่คือความสูญเสียของประเทศที่จะประเมินไม่ได้ เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก งานของผู้หญิง อย่างเช่น งานบ้าน งานครัว งานดูแลคนในบ้าน และงานดูแลบุตร เป็นงานที่ไม่ได้ถูกรวมในมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงต้องออกจากการทำงานที่ได้เงิน มาทำงานที่ไม่ได้เงิน และงานที่พวกเธอทำก็ยังเป็นส่วนลดให้ผู้ชายด้วย ยกตัวอย่างเช่นด้านโครงสร้างขององค์กรต่างๆ เช่น ระบบราชการจะพบว่าผู้ชายมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิง โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงไม่ถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปในระดับสูง เพราะมายาคติ คิดว่าไม่น่าจะมีศักยภาพมากเพียงพอเท่ากับผู้ชาย" นายธัญวัจน์ กล่าว

...

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า งบกรมกิจการสตรีสถาบันครอบครัว ที่พยามสร้างความเท่าเทียมแต่ไม่มีประสิทธิภาพ งบรวม 214.3 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของงบบุคลากร งบ 112.95 ล้านบาท เป็นงบดำเนินการและลงทุนของราชการ 30 ล้านบาท เป็นงานอีเวนต์กิจกรรมสตรีที่ไม่ได้สร้างความเสมอภาคจริงๆ เมื่อดูผลจากตัวชี้วัด ทำได้ไม่ถึง 1 ใน 10 จากเป้าที่ต้งไว้ งานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ งบเกือบ 20 ล้าน ตรงนี้หมดไปกับค่าจัดประชุมและเบี้ยประชุม ส่วนโครงการอบรมอาชีพก็ไม่ได้พัฒนาศักยภาพบทบาทสตรี แต่กลับอบรมงานที่ล้าสมัย และให้ผู้หญิงเป็นคนทำงานหนัก 

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ คือ ต้องลดภาระผู้หญิง สิ่งที่รัฐยังไม่จัดสรรงบประมาณคือ ช่วง 2 ปีแรกที่ดูแลเด็กอ่อน Day Care ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมาก และรัฐยังมองไม่เห็นภาระของผู้หญิง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็มีงบประมาณน้อยมาก โดยได้งบ 19,675 ล้านบาทจากรัฐบาล เฉลี่ยที่ละ 1.02 ล้านบาท ซึ่งดูแลเด็กประมาณกว่า 8 แสนคน ซึ่งในกรุงเทพฯ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถึง 298 ศูนย์ แต่ได้งบเพียง 5.12 ล้านบาท มันเพียงพอสำหรับอนาคตของชาติหรือไม่ เด็กๆ ควรได้รับการดูแลอย่างทั่วหน้า โดยปัจจุบันเรามีเด็กอายุ 0-6 ปี ทั้งหมด 4.67 ล้านคน แต่ท่านก็เลือกอุดหนุนเด็กแบบไม่ทั่วหน้า เนื่องจากเงื่อนไขความยากจนของผู้ปกครอง ทำให้กลุ่มเด็กที่ควรจะได้รับเงินอุดหนุน จาก 4.67 ล้านคน เหลือเพียง 2.1 ล้านคน หรือ 45% ของเด็กทั้งหมด ซ้ำร้ายจากการกำหนดเงินอุดหนุนเด็กที่ไม่ทั่วหน้าแล้ว ก็ยังไม่ทั่วถึงอีก โดยการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กที่รับเงินอุดหนุนจริงๆ มีเพียงแค่ 1.07 ล้านคนเท่านั้น หรือคิดเป็น 23% ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสัดส่วนในการอุดหนุนเด็กสูงถึง 1.23% ของ GDP แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ถ้าเทียบจาก GDP แล้ว แค่ 0.08% เป็นการอุดหนุนที่น่าเวทนามากๆ 

นายธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า ตนไม่สามารถเห็นด้วยกับหลักการงบประมาณนี้ได้ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอนี้ คือ 1.เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เป็นการอุดหนุนถ้วนหน้า เดือนละ 1,200 บาท 2.ถ้าไม่เพิ่มเงินอุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างที่กล่าวมางบน้อยมาก 3.ไม่สามารถเห็นด้วยกับหลักการณ์ถ้าไม่มีการจัดสรรงบทำศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก และบรรจุแรงงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาท่ีเหมาะมากในขณะนี้เรากำลังมีคนตกงาน แต่ถ้าเราพัฒนาฝีกอบรมในการดูแลเด็กแบบมืออาชีพให้กับคนที่สนใจ มีใจรักเด็ก การบรรจุแรงงานตรงนี้ก็จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มาก ซึ่งในทางกลับกันก็คืนพื้นที่ผู้หญิงอีกส่วนได้กลับไปทำงาน ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตมากขึ้น เรียกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3 เท่า 4.มาตรการที่ไม่ใช่งบประมาณ เช่น ออกกฎหมาย ออกแบบการลดหย่อนภาษี สำหรับการกำหนดพื้นที่การดูแลเด็กเล็กในพื้นที่ประกอบการ พรรคก้าวไกลไม่คิดว่าจะจัดเก็บภาษีได้น้อย แต่มันคือการจัดสรรงบประมาณให้บริษัทได้ทันที และเป็นการสร้างแรงจูงใจ 5.พรรคก้าวไกลจะใช้มุมมองในการจัดสรรงบประมาณทั้งหมดให้มีมุมมองเพศ โดยใช้แนวคิด Gender Responsive Budgeting นโยบายจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ 

"สุดท้ายตนไม่สามารถรับงบประมาณนี้ได้ เพราะงบนี้ไม่ได้ส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ให้เสมอภาค แต่ยิ่งทำให้เราสูญสิ้นทรัพยากรที่ประเมินค่าไม่ได้ นั่นคือมนุษย์ แต่พรรคก้าวไกลจะจัดสรรงบประมาณอย่างที่กล่าวมา เราทุกคนสามารถเปลี่ยนคำพูด เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก เปลี่ยนเป็น เกิดเป็นหญิงที่จริงไม่ลำบากเลย" นายธัญวัจน์ กล่าว.