นายกฯ ฟื้นคณะกรรมการ ป.ย.ป.ยุค คสช. เร่งปฏิรูป “กฎหมาย-ประเทศ” ย้ำ ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม ส่วน "ปรองดอง" ชี้ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ขณะ"บิ๊กป้อม" ไม่ขอตอบ ขั้นตอนดำเนินงาน

วันที่ 19 มิ.ย. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2563 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรม ส่วนเรื่องการปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เมื่อถามถึงขั้นตอนการขับเคลื่อนงานว่าจะเป็นแนวรูปแบบใด พล.อ.ประวิตรปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว

จากนั้นนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. แถลงการประชุมว่า การทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เมื่อกำหนดแผน กำหนดการทำงานทั้งหมด จะต้องลงไปสู่หน่วยปฏิบัติคือกระทรวง ทบวง กรม แต่ปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อนของกระทรวง ทบวง กรม จะมีหน่วยงานใดประสานเร่งรัดขับเคลื่อน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ย.ป. จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุน ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการเสนอผลงานที่สำคัญของป.ย.ป.ที่ผ่านมา ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การลดความเหลื่อมล้ำ การบูรณาการ ข้อสารสนเทศสำหรับผู้พิการ การป้องกันปัญหากลุ่มควันนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ และปฏิรูประบบร้องเรียน ร้องทุกข์ของประเทศ โดยที่ประชุมมีมติเห็น และรับทราบโดยให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการทบทวนคณะกรรมการทำงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปรองดอง จำนวน 14 ชุด โดยที่ประชุม ได้มีมติยกเลิกคณะกรรมการทั้งหมด ซึ่งโดยสภาพทางกฎหมายถือว่า คณะกรรมการต่างๆ เหล่านี้สิ้นสุดลง เพราะเป็นการตั้งตามคำสั่งของนายกฯ ในรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้นเมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สถานะทางกฎหมายจึงสิ้นสุดลง และที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา 1 ชุด คือ คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข หรือตรากฎหมายในระยะเร่งด่วน

...