ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง แนะ ให้รัฐบาลเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตสูง ใช้มาตรการ คิวอี (QE) แบบสหรัฐฯ และรัฐบาลทั่วโลกใช้ หลังโคโรนาไวรัส (โควิด-19) คลี่คลาย  

วันที่ 19มิ.ย. ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.การคลัง ระบุว่า ภาวะโรคระบาดโควิค-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง ประชาชนต้องหยุดค้าขาย หยุดเดินทาง มีผลให้เกิดการตกงานและเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นจำนวนมากทั่วโลก รายได้สำคัญของประเทศไทย จากการส่งออกและท่องเที่ยวได้ลดลงมากมาย รัฐบาลก็ได้ให้ประชาชนไทยหยุดงาน หยุดกิจการ และได้กู้เงินจำนวนมาก มาแจกประชาชนเพื่อให้ดำเนินชีวิตไปได้ในระยะสั้น

นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด เริ่มเบาบางลงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนได้กลับมาทำงาน มีรายได้ที่แท้จริงของตนเอง ภายใต้ภาวะความปกติใหม่ (New Normal) คือการรักษาระยะห่าง และรักษาความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น การทำให้ประเทศกลับมาเจริญเติบโตสูงขึ้นโดยเร็ว จึงควรเป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลจะต้องทำก่อน ซึ่งหากทำได้ ปัญหาอื่นๆ ก็จะแก้ได้ไขได้ง่ายขึ้นมาก

"สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนใช้มาตรการ QE (Quantitative Easing) คือเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนเอง เป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนมากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดทุนและตลาดทรัพย์สินมีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดการขาดความเชื่อมั่น"

"รัฐบาลไทยก็ต้องเร่งให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องเติบโตในอัตราการสูง เพื่อสร้างรายได้และฐานะของประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น "

"มาตรการ QE เป็นมาตรการสำคัญที่ใช้กันทั่วโลก โดยรัฐบาลให้ธนาคารชาติเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารชาติ (ที่ออกมาขายก่อนหน้านี้) ออกจากตลาดเงินในจำนวนมากพอ"

...

"จากนั้น รัฐบาลควรใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate targeting policy) แทนการใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting policy)"

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า การใช้มาตรการคิวอี และนโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน จะทำให้ (1) ปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ประชาชนจะสามารถค้าขายกันมากขึ้น แต่ละคนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น (2) ค่าเงินบาทจะอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ (เงินบาทควรเป็น 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) ซึ่งทำให้รายได้ส่งออกในรูปเงินบาทมากขึ้น (แม้ขายในปริมาณเท่าเดิม) ประเทศและประชาชนจะมีฐานะดีขึ้นรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ปัญหาอื่นๆ ของประเทศก็จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น"

"รัฐบาลไทยเคยใช้มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ทำให้ในช่วงปี 2530 ถึง 2538 ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตสูงเฉลี่ย 10% เป็นเวลาถึง 9 ปี ซึ่งในตอนนั้น เรียกว่านโยบายตะกร้าเงิน (Basket of Currencies)" ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าวทิ้งท้าย