คิว "ประชาธิปัตย์" ป่วนบ้าง ลูกพรรคเซ็ง ล่าชื่อ กก.บห. ไล่ "จุรินทร์" ตกเก้าอี้จ่าฝูง ปชป. เหตุใจดำ ไม่ดูแล ส.ส. ดึงพรรคตกต่ำ-เป็นลูกไล่ พปชร. พ้ออึดอัดอุดมการณ์พรรคเปลี่ยน แปรสภาพรอเสียบร่วม รบ. ไร้ข้อแม้
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า ขณะนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคให้ได้เกินครึ่ง จากที่มีอยู่ 39 คนตามโครงสร้างพรรคให้ลาออก เพื่อขอให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. นายอันวา สาและ รองเลขาธิการพรรคและ ส.ส.ปัตตานี พร้อม 9 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงชื่อเรียกร้องขอให้ผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อระดมสมองแก้ปัญหาภายในพรรค กรณี ส.ส.และสมาชิกของพรรคทยอยลาออก ตามมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งเหรัญญิกพรรคของ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค สายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและอดีตหัวหน้าพรรค ถือเป็นการลาออกนำร่องของกรรมการบริหารพรรคคนแรก และมีการเตรียมจัดประชุมใหญ่ในวันที่ 29 มี.ค.63 แต่ต้องสะดุดลง เพราะอยู่ในช่วงยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทั่งเริ่มมีความเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อกรรมการบริหารพรรคให้ลาออกอีกครั้ง เพื่อรอการจัดประชุมใหญ่ใหญ่สามัญประจำปีตามที่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองกำหนดตามข้อบังคับพรรคหากมีกรรมการบริหารพรรคเกินกึ่งหนึ่งลาออก จะทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ และต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันพ้นตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สาเหตุที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์นั้น เกิดจากปัญหาสะสมในการบริหารงานของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน มีลักษณะรวมศูนย์ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส.จนลูกพรรคส่วนใหญ่ต่างคุยลับหลังว่า เหมาะกับการเป็นรัฐมนตรี แต่ไม่เหมาะเป็นหัวหน้าพรรค เพราะสนใจแต่งานในกระทรวง ขณะที่ปัญหาการบริหารภายในพรรค ทั้งกรณีสมองไหล แกนนำและสมาชิกพรรคทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง กลับนิ่งเฉยไม่ประชุมหาทางแก้ไขเพื่อรักษาบุคลากรของพรรคไว้
...
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีที่สร้างความไม่พอใจในวุฒิภาวะผู้นำต่อลูกพรรค คือ การนำข้าวสาร 25.5 ตัน ไปแจกให้ อบต.ทุกแห่งใน จ.พังงา ช่วงวิกฤติโควิดจังหวัดเดียว ทั้งที่พื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดต่างประสบปัญหาเดียวกัน จน ส.ส.บางคนเอ่ยปากต่อว่า "ใจดำ" แทนที่จะกระจายข้าวให้จังหวัดละ 2-3 ตันให้ทั่วถึงเท่าเทียม เทียบกับยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ยังส่งถุงยังชีพแจกจ่ายลูกพรรคทุกเขตเลือกตั้ง นำไปแจกจ่ายประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงไม่มีการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่จำเป็น แต่กลับวางบทบาทพรรคในสถานะเหมือนเป็นลูกไล่ที่ต้องคอยปฏิบัติตามพรรคพลังประชารัฐ บนข้ออ้างว่าพรรคไม่ได้เป็นแกนนำ ต้องมีมารยาททางการเมืองในการร่วมรัฐบาล จน ส.ส.หลายคนอึดอัดและกังวลว่า อนาคตพรรคจะยิ่งตกต่ำลงจากการนำพาพรรค ที่กำลังแปรสภาพกลายเป็นพรรครอเสียบ รอร่วมรัฐบาลแบบไร้ข้อแม้ ไม่ต่างจากพรรคตัวแปรอื่นๆ จะทำให้พรรคเสียแนวทางและอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เคยเป็นจุดแข็งที่แตกต่างเหนือพรรคอื่นๆ ไป