กลายเป็นดราม่าไปแล้ว กรณีการหายตัวอย่างไร้ร่องรอยของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” จากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อช่วงเย็น วันที่ 4 มิ.ย. และเรื่องได้บานปลายไปถึง ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงและนางแบบสาวชื่อดัง ซึ่งเป็นทูตสันถวไมตรี ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ว่าเหตุไฉน ไม่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับเรื่องนี้ เนื่องจากชาวโลกโซเชียล ต่างมองว่าเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยโดยตรง

ทั้งๆ ที่ “ปู ไปรยา” ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า มีหน้าที่รณรงค์ในเรื่องสันติภาพและไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง โดยการหายตัวไปของ ”วันเฉลิม” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งการทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ชัดเจนมาตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นโครงการของสหประชาชาติ ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัย ชุมชนที่ถูกบังคับย้ายถิ่น และบุคคลไร้รัฐ รวมถึงอนุเคราะห์ให้ได้รับการส่งกลับประเทศเดิมด้วยความสมัครใจ การรวมเข้ากับท้องถิ่นอื่น หรือการตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม

...

ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า ตำแหน่งทูตสันถวไมตรี เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีเงินเดือน ส่วนใหญ่มีการแต่งตั้งคนมีชื่อเสียง ทั้งอดีตนักการเมือง ดารา บุคคลต่างๆ ในภูมิภาคนั้นๆ เข้ามาทำหน้าที่ ให้เป็นตัวแทนกิตติมศักดิ์ในการรณรงค์การทำงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เช่น สิทธิ์ผู้ลี้ภัย ความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 6-7 เรื่อง อาทิ ในซีเรีย เยเมน เวเนซุเอลา และโรฮีนจา หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้หญิง ตามที่ได้กำหนดขึ้นมา

ในกรณีของ “ปู ไปรยา” คนบางกลุ่มมองหัวข้อกว้างๆ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย ซึ่งควรเข้ามาช่วยเหลือกรณี ”วันเฉลิม” แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการทำหน้าที่ทั่วๆ ไป อาจจะต้องมีการคุยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในกรณีการหายตัวไปของผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ และ “ปู ไปรยา” ควรแสดงความเห็นแบบกลางๆ ในทำนองว่ามีความกังวลต่อผู้ลี้ภัยทั่วโลกมากกว่า

"หากเกรงว่าจะถูกโยงในเรื่องการเมืองเป็นกรณีเฉพาะ อาจมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในประเด็นนี้น่าจะมีการปรึกษากับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในการจะให้สัมภาษณ์ หรือทำอย่างไรต่อไป".