ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็น ปธ.ประชุมคกก.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) อนุมัติให้ กรมการขนส่งทางบกใช้ที่ดิน ส.ป.ก.สร้างศูนย์เปลี่ยนถ่าย-ขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อการส่งออก-นำเข้า
วันที่ 5 มิ.ย. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 3/2563 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อกิจการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และประโยชน์สาธารณะของประเทศ การอนุมัติจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกร รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุญาตให้กรมการขนส่งทางบกใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ ติดกับสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 4 จำนวน 206 ไร่ 1 งาน 57.6 ตารางวา จากมีพื้นที่โครงการรวม 335 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา โดยโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หรือสินค้าบรรจุหีบห่อ (Break-Bulk Cargoes) เพื่อการส่งออกและนำเข้าในลักษณะจุดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดนไทย-ลาว-จีน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และถนนสาย R3A รวมถึงการยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้ารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนและการเติบโตด้านฝั่งตะวันตกของจีนซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked) และการรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนสู่ระบบราง ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นเมืองหลักด้านโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และเป็นอีกหัวใจสำคัญในการแปลงโฉมจังหวัดเชียงรายให้เป็นโลจิสติกส์ซิตี้ของภูมิภาค เพื่อพัฒนาไปสู่ประตูการค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) นอกจากนี้เมื่อโครงการเปิดให้บริการแล้วจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศและในเขตปฏิรูปที่ดิน และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังวิกฤติ COVID-19 อีกด้วย
...

พร้อมกันนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ ส.ป.ก. จัดซื้อกล้องสำรวจแบบประมวลผลรวม (Total Station) ทดแทนเครื่องเดิม จำนวน 17 ชุด วงเงิน 6,256,000 บาท และเครื่องหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม (GNSS แบบ Rover) จำนวน 45 ชุด วงเงิน 14,175,000 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกรของ ส.ป.ก. ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม รวมถึงการสำรวจรังวัดแปลงที่ดินและการจัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดินให้มีความถูกต้อง แม่นยำ ตรงกับสภาพพื้นที่ภูมิประเทศจริง ซึ่งจะทำให้ ส.ป.ก. สามารถสำรวจรังวัดและตรวจสอบพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้นจากแผนงานปกติถึงร้อยละ 30 และยังช่วยลดระยะเวลาการสำรวจรังวัดเพื่อออก ส.ป.ก.4-01 ให้แก่เกษตรกรได้ภายใน 180 วัน ตามนโนบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กษ. นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมของ ส.ป.ก. เพื่อรองรับเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ One Map และการจัดทำแผนที่ฐาน Base Map มาตราส่วน 1 : 4,000 ของประเทศไทย (ONE DATUM) ในระบบดิจิทัล (Big Data)

ขณะที่การประชุมในวันนี้ คปก. ยังได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของ ส.ป.ก. ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ขอบเขตภารกิจของ ส.ป.ก. เพื่อเติมเต็มความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นนอกเหนือจากมาตรการที่รัฐบาลได้ออกมาช่วยเหลือและดูแลพี่น้องเกษตรกรตามนโยบายของร.อ.ธรรมนัส ส.ป.ก. จึงได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินด้านการเงินประกอบด้วยมาตรการลดภาระหนี้สินและมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้กำหนดวงเงินช่วยเหลือไว้ถึง 466 ล้านบาท ภายใต้แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 ต่อปี และเงินกู้ระยะปานกลาง 3 ปี วงเงินกู้ตั้งแต่ 20,001- 50,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อปี ซึ่งหลังจากที่ ส.ป.ก. ได้ประชาสัมพันธ์มาตรการความช่วยเหลือออกไปพบว่า มีพี่น้องเกษตรกรให้ความสนใจยื่นคำขอเงินกู้ระยะปานกลางมากถึง 1,664 ราย ใน 22 จังหวัด วงเงินรวมกว่า 60 ล้านบาท และสำนักบริหารกองทุน ส.ป.ก. ได้จัดสรรและโอนเงินให้ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อจ่ายเงินกู้ให้เกษตรกรเรียบร้อยแล้ว
“พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีความประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือจาก ส.ป.ก. ตามมาตรการดังกล่าวยังสามารถยื่นคำร้องขอได้ที่ ส.ป.ก.จังหวัดทุกแห่งจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว.