ต้องติดตามพรรคพลังประชารัฐ ในรูปโฉมใหม่เร็วๆ นี้ หลังกรรมการบริหารพรรคทั้ง 18 คน ยื่นหนังสือลาออกเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันทั้ง 34 คน สิ้นสุดลง รวมถึงอุตตม สาวนายน ต้องพ้นสภาพการเป็นหัวหน้าพรรค กลายเป็นเพียงรักษาการ ตามข้อบังคับพรรค และจะจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายใน 45 วัน

เป็นไปตามการคาดเพื่อเปิดทางให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มากบารมี นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ และเข้าสะสางแก้ปัญหาสะสมภายในพรรคที่มีมานานตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรัฐบาลผสม จากกลุ่มก๊วนต่างๆ เตะตัดแข้งตัดขากันไปมาให้วุ่นมาโดยตลอด จนฝุ่นตลบไปทั่วพรรคก็เพราะแย่งชิงโควตารัฐมนตรี กระทั่งมาถึงขั้นแตกหักครั้งล่าสุด แต่ละกลุ่มในพรรคเปิดเกมจับมือชั่วคราว รุมถล่ม “กลุ่ม 4 กุมาร” ประกอบด้วยอุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ให้นำไปสู่การปรับครม.

เหตุใดต้องเป็น “บิ๊กป้อม” เท่านั้น ทั้งๆ ที่มีแผลการเมืองโดยเฉพาะปมนาฬิกาหรูยืมเพื่อนมาใส่ ไม่ต้องแจ้งยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะ ป.ป.ช.ออกมาชี้ชัดแล้วว่าการยืมดังกล่าวเป็นการ “ยืมใช้คงรูป” มิใช่หนี้สินที่เป็นเงินตรา แสดงเห็นเห็นว่า “บิ๊กป้อม” เป็นผู้มากบารมีตัวจริง

...

“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์สาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาให้คำตอบผ่าน “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ก็เพราะว่า “บิ๊กป้อม” เป็นพี่ใหญ่ 3 ป.แห่งบูรพาพยัคฆ์ “ป.ป้อม พี่ใหญ่-ป.ป๊อก พี่คนรอง-ป.ประยุทธ์ น้องคนเล็ก” ถือเป็น “บิ๊กบราเธอร์” ผู้มีบิ๊กคอนเน็กชั่น โดยตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ทำไม “บิ๊กป้อม” กล้าเข้ามา เพราะจริงๆ แล้ว ไม่มีตำแหน่งอะไรในพรรคก็มีบารมีอยู่แล้ว แสดงว่าต้องเข้ามาแก้ปัญหาบางอย่างในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต้องอาศัยผู้มากบารมี เนื่องจากพรรคนี้สร้างมาจากหลายกลุ่มที่ร่วมก่อตั้งพรรค ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบระนาบเดียวกัน จนไม่มีความเกรงใจกัน ทั้งกลุ่มสามมิตร กลุ่ม 4 กุมาร กลุ่มธรรมนัส และกลุ่มปักษ์ใต้ สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ในระนาบเดียวกัน

อีกทั้งก่อนหน้า “บิ๊กป้อม” ได้เข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาภายในพรรคได้ จึงต้องเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคอาจแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่า “บิ๊กป้อม” จะสามารถแก้ปัญหาหรือเป็นโซ่กลางได้หรือไม่ เนื่องจากภายในพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.หน้าใหม่จำนวนมาก อาจทำให้ความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลน้อยลงมา เพราะฉะนั้นกระบวนการที่จะมีผู้อาวุโสเข้ามาแก้ไขปัญหาอาจทำได้ 50:50 อย่างที่ก่อนหน้านั้นเคยบอกให้ ส.ส.ในพรรคที่เป็นรัฐมนตรีทิ้งหมวกให้เหลือ 1 ใบโดยให้ลาออกจาก ส.ส.ก็ไม่สามารถทำได้ อาจเป็นไปได้ต้องมีคนอื่นมาแก้ปัญหาแทน เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ส่วน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามแสดงให้เห็นชัดเจนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่สถานะในความเป็นจริงทำเช่นนั้นไม่ได้ เช่น การจะตัดสินใจปรับครม.ก็ต้องอยู่ที่ “บิ๊กตู่” เพียงคนเดียว ซึ่งไม่ใช่และควรต้องฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย โดยสิ่งที่ “บิ๊กตู่” ทำอยู่เพราะต้องการแยกบทบาทให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ

“การที่บิ๊กป้อม จะเข้ามานั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาภายในอาจจะทำไม่ได้อย่างที่คิด และตอนนี้อายุมาก มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เมื่อจะเข้ามาในตำแหน่งนี้ต้องมีผู้ช่วย อีกอย่างการเมืองไทยขณะนี้จะใช้ผู้อาวุโสเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหา คงไม่เหมือนในอดีต เพราะมีนักการเมืองหน้าใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ความสัมพันธ์เกื้อกูลต่างๆ คงไม่ง่าย ดังนั้นสิ่งที่บิ๊กป้อมจะเข้ามาสะสางปัญหา อาจจะลำบาก”.