ยันเปลี่ยนแปลงกรรมการ ต้องโยงไปถึงการปรับครม. เด็กปชป.ชนตู่รวบงบลํ่าซำ

“สมศักดิ์” รับเขย่าโครงสร้างพลังประชารัฐ โยงปรับ ครม. ป้อง “ประวิตร” ไม่ได้อยากเป็นหัวหน้า แต่สมาชิกร้องขอ อวย “บิ๊กป้อม” จุดแข็งเพียบทั้งผลักดันนโยบาย สื่อสารชัดเจนแก้ปัญหาจบ อ้าง “สมคิด” พูดเองกลางสภาฯไม่ได้เป็นสามมิตร “อุตตม” ลุยงานหนักจัดทีมงานลงพื้นที่เยียวยาชาวบ้าน “เพื่อไทย” เต้นดับข่าวลือพลิกขั้วผสมพันธุ์ พปชร. “สมพงษ์” ซัดปล่อยข่าวดิสเครดิต หวังผลต่อรองอำนาจผลประโยชน์ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล ลั่นตราบใดยังเป็น หน.พท.ไม่ทำอะไรขัดเจตจำนงประชาชนและหลักการประชาธิปไตย 11 ส.ส.ปชป.จ่อชำแหละ พ.ร.บ.โอนงบฯปี 63 “องอาจ” ฉะบางกระทรวงยึกยักตัดงบฯน้อยเกินควร “เทพไท” จ้องขยี้งบฯล่ำซำในกำมือนายกฯ

แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินหน้า ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริหาร พรรคใหม่ โดยสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุ พล.อ.ประวิตรมีจุดแข็งหลายอย่าง โดยเฉพาะการสื่อสารที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างให้พรรคมั่นคงแข็งแรงและเป็นที่ยอมรับ

“สมศักดิ์” แจงปรับปรุงพรรคให้มั่นคง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 3 มิ.ย. ที่ร้านกินเส้น ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน ว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่ เมื่อได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาล พรรคต้องมีกิจกรรมทาง การเมืองที่กระฉับกระเฉง จึงต้องปรับปรุงองค์ประกอบของพรรคให้หนักแน่นมั่นคงมากขึ้น และถือเป็นธรรมชาติ พรรคการเมืองที่โครงสร้างพรรคต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และการปรับโครงสร้างไม่ได้หมายความว่า ผู้บริหารเดิมจะไม่สามารถกลับมาได้อีก ทั้งหัวหน้า พรรค เลขาธิการพรรคสามารถกลับมาได้

...

ขอคน พปชร.หยุดทำพรรคเสื่อม

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า การลาออกของ 18 กรรมการบริหารพรรค เปรียบให้ชุดใหม่เจียระไนพรรค ที่เหมือนแก้วที่ตกผลึกให้มีมูลค่าสูงขึ้น ขอฝากสมาชิก ของพรรคพลังประชารัฐทุกท่าน หยุดในสิ่งที่อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิด จากการสัมภาษณ์ พูดคุย หรือสร้างเครื่องมือการสื่อสารทางสังคม ซึ่งอาจทำลายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือบ้านเมือง และอาจจะเป็นการทำลายพรรคในทางอ้อม เมื่อถามว่า กรรมการบริหารพรรคที่ยื่นลาออกในความเป็นจริงนั้น มีมากกว่า 18 คนหรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า เป็น เรื่องเทคนิคทางกฎหมาย เพราะกึ่งหนึ่งคือ 17 คน ดังนั้น แค่ 18 คน ก็เพียงพอแล้ว ถ้าออกเกือบหมด ก็ดูเหมือนไม่ให้กำลังใจกัน เพราะแต่ละคนที่บริหารมา มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ดังนั้นขออย่านำตัวเลขไปวิเคราะห์ เพราะผิดหมด

อวย “ประวิตร” มีจุดแข็งหลายอย่าง

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีหลายกลุ่มสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ยุทธศาสตร์พรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างของพรรคทุกคน มีโอกาส ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ใครที่เข้าใจและนำเสนอ สิ่งที่เราสามารถตอบสนองให้กับประชาชนและประเทศ ชาติได้ คนนั้นจะได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ. ประวิตรหรือใครก็ตาม เป็นไปได้ทั้งนั้น ส่วน พล.อ.ประวิตรก็มีจุดแข็งหลายอย่าง นำนโยบายพรรคเสนอ ต่อรัฐบาล สื่อสารที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามใจทั้งหมด แต่เราอยากให้พรรคเป็นองค์กร ที่ได้รับการยอมรับทุกแนวทาง คิดว่าสมาชิกคงมีการ กลั่นกรองในวันเลือกตั้งได้ ที่ไม่ใช่การตัดสินใจเพียง ส.ส.ของพรรคอย่างเดียว การเลือกจึงอยู่ที่คนส่วนรวม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ชี้ “ลุงป้อม” ไม่ได้อยากแต่สมาชิกร้องขอ

เมื่อถามว่าแต่ พล.อ.ประวิตรเองถูกวิพากษ์ วิจารณ์ถึงความโปร่งใส อย่างเช่น กรณีนาฬิกาเพื่อน นายสมศักดิ์ตอบว่า ผู้มีสิทธิเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คงต้องมองในภาพรวมว่าพรรคจะได้ ประโยชน์อย่างไร ดูแล้ว พล.อ.ประวิตรไม่ได้อยากเป็น ถ้าจะเป็นเพราะสมาชิกร้องขอมากกว่า ถ้าคนไม่อยากเป็น แต่จำเป็นต้องเป็นก็คงไม่อยู่ถึง 5 ปี ส่วนกรณีที่มีการ วิเคราะห์ว่านายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท จะขึ้น เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ว่า ก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของสมาชิกทั้งหมด

อ้าง “สมคิด” พูดเองไม่ได้เป็น “สามมิตร”

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายสมศักดิ์และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้ผู้บริหารพรรคต้องเลือกไปตามแนวทางหรือแนวนโยบายที่เราคิดหรือดำเนินการ มองประชาชนเป็นเป้าหมายให้เขามีความสุข ส่วนที่นายสมคิดมีท่าทีน้อยใจนั้น เพราะนายสมคิดเองก็เคยพูดในสภาฯว่าไม่ได้เป็นสามมิตร แล้วจะเอาท่านมาเกี่ยวกับสามมิตร ได้อย่างไร ที่สำคัญเราได้สลายสามมิตรไปแล้ว

หยันใครตั้งพรรคใหม่รอ ลต.ขาดใจตาย

เมื่อถามว่า การปรับเปลี่ยนอาจทำให้คนบางกลุ่มในพรรคไม่พอใจ อาจไปตั้งพรรคใหม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คงขาดใจตายก่อน เพราะรัฐบาลเดินมา 1 ปี กว่าจะเลือกตั้งก็อีก 3 ปี พร้อมเชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ครบ 4 ปี เนื่องจากกระแสความนิยมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่ชี้แจงและตอบถึงปัญหาของประชาชนและ ส.ส.ในสภาฯได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นนายกฯที่ขยันที่สุดตั้งแต่ตนได้ทำงานการเมืองมา

รับเปลี่ยนโครงสร้าง พปชร.โยงปรับ ครม.

เมื่อถามว่า การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ถูกโยงไปถึงการปรับ ครม. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แน่นอนอาจเป็นเช่นนั้น เพราะโครงสร้างของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้แบ่งโควตากระทรวงต่างๆให้แต่ละพรรคการเมือง ซึ่งพรรคเหล่านั้นต้องไปดูแต่ละกระทรวงให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แต่บางส่วนที่ไม่อาจตอบสนองประชาชนได้ต้องอาศัยโควตากลางที่มีอยู่ ขอเรียนว่าตนดีกับทุกคน ไม่เป็นปัญหา ที่ทำการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้เพราะต้องการให้ประชาชนที่เราไปบริหารในกระทรวงนั้นมีความสุข และเป็นไปตามนโยบายของนายกฯ

“อุตตม” ลุยหนักงานส่งทีมเยียวยาถึงพื้นที่

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ภายหลังนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทำงานอย่างหนักเพื่อนำเสนอ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เรียบร้อยแล้ว และวันที่ 4 มิ.ย.จะนำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 63 เข้าสู่สภาฯอีกฉบับ เพื่อนำงบฯทั้งหมดไปช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังเตรียมยุทธศาสตร์และแผนงานไว้แล้ว โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน ท้องถิ่น การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากโดย ธ.ก.ส. นายอุตตมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว กระทรวงการคลังยังได้ทำโครงการก้าวต่อไป เราไม่ทิ้งกัน ตั้งทีมเราไม่ทิ้งกันลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอีกด้วย

“ไพบูลย์” คาดจัดประชุมใหญ่ต้น ก.ค.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการจัดประชุมใหญ่สามัญพรรค เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. หลัง 18 กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันลาออกว่า ตามข้อบังคับพรรค นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ต้องเรียกประชุม 16 กรรมการบริหารพรรคที่เหลือ เพื่อกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญ สถานที่ และระเบียบวาระการประชุม น่าจะเรียกประชุมภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ อาจประชุม 1-2 ครั้งแล้วสรุป หากรักษาการหัวหน้าพรรคไม่เรียกประชุมจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค และกระทบต่อสถานะพรรค ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหา เชื่อว่านายอุตตมยึดมั่นข้อบังคับพรรค และเชื่อว่าการประชุมกรรมการบริหารพรรคไม่มีปัญหาการป้องกันโควิด-19 เหลือแค่ 16 คนจัดมาตรการป้องกันได้ คาดว่าจะจัดประชุมใหญ่สามัญได้ช่วงต้นเดือน ก.ค.

“สมพงษ์”สยบข่าวลือ พท.พลิกขั้ว

วันเดียวกัน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หลังจากมีการลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้ปรากฏทั้งข่าวลือ ข่าวปล่อย ถึงการจับขั้วรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกระแสข่าวเกี่ยวพันถึงพรรคเพื่อไทย จึงอยากชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ดังนี้ พรรคเพื่อไทยดำรงการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการร่วมทำงานกับพรรคใด ต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรมของที่มา รวมถึงแนวนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินที่สอดคล้องกัน พรรคเพื่อไทยปฏิเสธการเข้าสู่อำนาจ ที่ไม่เป็นไป ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และปฏิเสธ การได้อำนาจมา ด้วยวิธีการที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์เฉพาะตนของนักการเมือง การทำงานการเมืองและการตัดสินใจทางการเมืองทุกครั้ง ต้องยึดมั่น และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ในภาวะวิกฤติ การร่วมกันหาทางออกหากเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และต่อพี่น้องประชาชน จะกระทำได้ต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง เปิดเผยและซื่อสัตย์ต่อประชาชน และจะต้องมีการหารือร่วมกันของสมาชิกและผู้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมดในพรรคเพื่อไทย

ตราบใดเป็น หน.พรรคไม่หักเจตนา ปชช.

“ผมคิดว่าข่าวลือที่ปล่อยกันออกมา เพื่อหวังผลในการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย เป็นการกระทำที่มุ่งหวังในการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง โดยหวังอาศัยส่วนประกอบและเงื่อนไขต่างๆ เป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์แก่การจัดสรรอำนาจของพวกตนเอง เพื่อให้ผลประโยชน์และอำนาจลงตัวกันเท่านั้น ขอยืนยันต่อพี่น้องประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าไม่ว่าใคร ผู้ใดจะอ้างเป็นตัวแทนพรรคไปเจรจาใดๆตราบใดที่ผมยังทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ยืนยันจะไม่นำพาพรรคไปกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนและหลักการประชาธิปไตยเป็นอันขาด” นายสมพงษ์กล่าว

กลัวเอฟซีเข้าใจผิด ไร้ดีลร่วม พปชร.

นายสมพงษ์กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องออกมาปฏิเสธข่าวการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมรัฐบาล ภายหลังปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐยุติลง ซึ่งไม่เป็นความจริง ยืนยันไม่เคยมีการพูดคุยใดๆเกิดขึ้น จึงต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน ถ้าปล่อยไปเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิด

เรียก “หม่อมเต่า” ตอบช่วยผู้ประกันตนช้า

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และ กองทุน สภาฯ กล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.จะเรียก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน มาชี้แจงกรณีผู้ประกันตนที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ผ่านมากว่า 3 เดือนยังไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างเป็นธรรม ไม่ให้ความสนใจผู้ประกันตน โดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคมนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้มีเงินไม่เพียงพอต่อการชดเชยให้ผู้ประกันตน

ปูดลูกหลานพรรคดังพันประมูลคอมฯ

นายจิรายุกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องไม่ชอบ มาพากล คนในกระทรวงกระซิบว่ามีไอ้โม่งลูกหลานพรรคดัง ไปยุ่งกับโครงการประมูลจัดทำระบบคอมพิวเตอร์มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทที่เพิ่งยกเลิกไปไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนประกันสังคมประเมินได้อยู่แล้วว่าแต่ละปีจะมีผู้ประกันตนเพิ่มหรือลดลงขนาดไหน แต่เหตุใดไม่มีแผนรองรับ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมาเขียนในเอกสารด้วยลายมือเป็นล้านๆราย ม.ร.ว.จัตุมงคลอย่าเอาความเดือดร้อนความเป็นความตายของประชาชนมาเป็นเรื่องเล่น ส่อให้เห็นถึงการบริหารราชการแผ่นดินต่างคนต่างพรรคต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หลายมุ้งแลกผลประโยชน์ ชิงเก้าอี้ แกนนำรัฐบาลควรสนใจแก้ปัญหาให้ประชาชนมากกว่าแย่งเก้าอี้กัน ถ้า รมว.แรงงานอยู่ใต้รัฐบาลปกติไม่มีเงื่อนไขต่อรอง ถูกปรับ ครม.กลับไปเลี้ยงหลานนานแล้ว

“ชุมสาย” ยุยุบทิ้ง ป.ป.ช.ฟอก “บิ๊กป้อม”

นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.แจ้งผลพิจารณากรณีการยืมนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่สามารถเอาผิดฐานไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. เนื่องจากเป็นการยืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินว่ามติ ป.ป.ช.เป็นเหตุผลฟังไม่ขึ้น น่าจะขัดต่อตรรกะ หลักวิชากฎหมายโดยสิ้นเชิง เป็นที่น่าอับอายต่อนักกฎหมายทั่วประเทศ มีเหตุผลที่น่าฟังกว่านี้หรือไม่ การให้ยืมต้องถือว่า พล.อ.ประวิตรได้ประโยชน์ที่อาจคำนวณเป็นเงินได้ตามกฎหมาย ป.ป.ช. บรรทัดฐานของคดีนี้จะถูกนำมาใช้อ้างกรณีต่อๆไป ไม่แน่ใจว่าตรรกะนี้ใช้เฉพาะคดีนี้หรือไม่ สังคมทั่วไปทราบว่าประธาน ป.ป.ช.ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตรสงสัยว่าข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช.รับฟังว่านาฬิกายืมเพื่อนมา น่าจะเป็นการหาทางออกช่วยผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นผิด ต้องไม่ลืมว่าถ้า ป.ป.ช.ทำผิดก็ติดคุกได้เหมือนกัน การมีคำวินิจฉัยยืนยันช่วงนี้ เพราะต้องการพ้นข้อครหาก่อนขึ้นกุมอำนาจพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หาก ป.ป.ช.ทำงานโดยมีมาตรฐานเช่นนี้ไม่สมควรต้องมี ควรยุบ ป.ป.ช.ทิ้งมีแค่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)และศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งได้ดีอยู่แล้ว

ปชป.ฉะบางกระทรวงยึกยักโอนงบฯ63

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่า พรรคได้ประชุม ส.ส.เตรียมพร้อมแล้วมี ส.ส.สนใจจะอภิปรายกว่า 10 คน ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นของการที่หน่วยราชการต่างๆ โอนงบฯที่ใช้ประจำมาไว้ที่งบกลางเกือบ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะมีงบที่ควรโอนกลับแต่ไม่โอน หรืองบฯไม่ควรโอนแต่กลับปล่อยให้โอนกลับมา และยอดงบแต่ละหน่วยงานในกระทรวงต่างๆโอนมามากน้อยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ เช่น บางกระทรวงควรตัดโอนได้มากกว่านี้ แต่ทำไมไม่ทำ ต้องซักถามตรวจสอบรายละเอียดบนพื้นฐาน 4 ข้อ คือ 1.งบฯที่ชะลอการดำเนินการได้ ไม่เสียหายต่อการบริหารงานตามปกติ 2.รายการผูกพันข้ามปีงบฯที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน 3.รายจ่ายลงทุนทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง 4.วงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน งบฯที่ยังไม่เบิกจ่ายหรือชะลอข้อผูกพันได้ เช่น ค่าจัดสัมมนา ฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายไปราชการต่างประเทศ ค่าศึกษาดูงานหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ อีเวนต์ต่างๆ

“เทพไท” จองกฐินขยี้งบฯล่ำซำในมือผู้นำ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กว่าวันที่ 4 มิ.ย.มีการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ในฐานะส.ส.จะขอใช้สิทธิ์อภิปรายซักถามข้อสงสัยและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดงบฯมาจากกระทรวงต่างๆ หรือโอนงบฯปี 63 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งไว้เป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 88,452,597,900 บาท ภายใต้ความรับผิดชอบของนายกฯเพียงผู้เดียว ถือว่าเป็นงบล่ำซำที่ไม่มีรายละเอียดหรือแผนงานการใช้เงิน ต้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป

11 ส.ส. ปชป.รอชำแหละส่ง 4 คนนั่งกมธ.

นายเทพไทระบุต่อว่า รายชื่อผู้อภิปรายของ พรรคประชาธิปัตย์ มี 11 คนคือ 1.นายสาทิตย์วงศ์หนองเตย 2.นายพิสิฐ ลี้อาธรรม 3.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ 4.นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย 5.นายนริศ ขำนุรักษ์ 6.นายประกอบ รัตนพันธ์ 7.นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ 8.นายเทพไท เสนพงศ์ 9.นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ 10.นายชัยชนะ เดชเดโช และ 11.นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ จากข้อตกลงของวิป 2ฝ่าย กำหนดเวลาอภิปราย 10ชั่วโมง แบ่งเป็นของฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลและ ครม. 4 ชั่วโมง และให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 43 คน ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล แบ่งตามสัดส่วนดังนี้ ครม. 10 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน กมธ.ของพรรคมีผู้เสนอตัว คือ นายวิรัช ร่มเย็น นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ และ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ พรรคจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมสภาฯต่อไป

จี้วิป รบ.เร่งสรุปตั้ง กมธ.ตรวจใช้เงินกู้

นายเทพไทให้สัมภาษณ์ว่า กรณีวิปรัฐบาลมีท่าทียินยอมให้จัดตั้งคณะ กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีหลังจากเคยต่อต้านขัดขวางเต็มที่ แต่เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติต่อประธานสภาฯและกระแสสังคมกดดัน แกนนำพรรคพลังประชารัฐที่เคยปฏิเสธต้องกลับลำทันที สอดคล้องกับท่าทีของนายกฯที่บอกว่าไม่ขัดข้องจึงเป็นไปได้สูง ขอให้วิปรัฐบาลประชุมหาข้อสรุปให้ชัดเจนโดยเร็ว พรรคต่างๆควรคัดสรรผู้มีความรู้ความสามารถ และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านการเงินการคลัง ภาคประชาสังคม องค์กรต้านคอร์รัปชัน ตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วม และควรตั้งคณะอนุ กมธ.ตรวจสอบรายละเอียดทุกด้าน เช่น ตรวจสอบการเยียวยา 44 ล้านคน โครงการต่างๆอีกหลายด้าน เพราะรายละเอียด พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ ไม่มีรายละเอียดโครงการเลย เหมือนการตีเช็คเปล่า เป็นภาระหน้าที่ของคณะ กมธ.วิสามัญชุดนี้ต้องติดตามตรวจสอบรายละเอียดอย่างเข้มข้นต่อไป

“สมชาย” การันตี สนช.ไม่ใช่ ส.ส.–ส.ว.

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีข้อสงสัยว่า ส.ว.ลงมติเห็นชอบ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี เป็นกรรมการ ป.ป.ช.อาจขัดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจากนายสุชาติพ้นจากตำแหน่ง สนช.มาไม่ถึง 10 ปี ว่า ยืนยันว่าตำแหน่ง สนช.ไม่ใช่ ส.ส. และ ส.ว. แค่ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงปฏิวัติ องค์ประกอบ สนช.ไม่เหมือน ส.ส.และ ส.ว.ที่อนุโลมให้ข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ ผู้พิพากษาเป็น สนช.ได้ รวมทั้ง สนช.ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่ สนช.คือเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น การตีความของคณะกรรมสรรหา กสม.ที่ตีความตัดสิทธิ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม และ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากต้องห้ามเคยเป็น สนช.และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ที่มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายตีความเห็นว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว.

ยกศาล รธน.–ป.ป.ช.ไม่ชี้ สนช.เป็น ส.ส.–ส.ว.

นายสมชายกล่าวอีกว่า ขณะที่คณะกรรมการสรรหา กสม.มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธาน ซึ่งนายชวนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมพิจารณากรณี พล.อ.นิพัทธ์ และ น.ส.จินตนันท์ ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงเหลือกรรมการสรรหา 8 คน โดยที่ผู้นำฝ่ายค้านไม่ลงคะแนน ส่วนที่เหลือเป็นนักกฎหมาย 2 คน ลงคะแนนว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว.ที่เหลืออีก 5 คน ไม่ใช่นักกฎหมายลงมติว่า สนช.เป็น ส.ส. และ ส.ว. ตนเห็นว่าเป็นการตีความผิด เชื่อว่าต่อไปหากมีการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆต่อไป นักกฎหมายต่างๆที่อยู่ในกรรมการสรรหาจะตีความว่า สนช. ไม่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ที่ผ่านมา ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยว่า สนช. เป็น ส.ส. และ ส.ว.

“ศรี” จ่อร้อง ส.ว.โหวต “สุชาติ” นั่ง ป.ป.ช.

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย. เวลา 09.00 น. จะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยกรณี ส.ว.ให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ได้รับเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยอาจมีลักษณะต้องห้ามขัดรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เนื่องจากมาตรา 11 (18) และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระบุกรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา

ขู่เอาผิด 219 ส.ว.ที่ยกมือโหวต

“นายสุชาติเคยได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ให้ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมาไม่ถึง 10 ปี และ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ถือว่านายสุชาติเพิ่งพ้นจาก สนช.จนถึงวันที่ได้รับเลือกเป็น ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 เพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี น่าจะขัดต่อลักษณะต้องห้าม การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเป็น ป.ป.ช. เป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะร้องเอาผิด 219 ส.ว.ที่โหวตให้นายสุชาติเป็น ป.ป.ช.ต่อไป”