แม้สภาผู้แทนราษฎรจะผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินทุกฉบับ ตามที่รัฐบาลเสนอ แต่ยังไม่แน่นอนว่าจะให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินนับล้านล้านบาท ตามข้อเสนอของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลบางส่วนหรือไม่ เหตุผลของฝ่ายที่เสนอเพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปโดยสุจริต คุ้มค่า ไม่มีการ “แบ่งเค้ก” กินกัน

ย้อนหลังกลับไปอีกหลายทศวรรษ เคยมีประเพณีการจัดสรรงบประมาณ หรือการแปรญัตติงบประมาณให้ ส.ส.แต่ละคนนำไปพัฒนาในเขตเลือกตั้งของตน เริ่มต้นด้วยเพียงคนละไม่กี่ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นคนละกว่าสิบล้านบาท เรียกกันว่าโครงการพัฒนาตามข้อเสนอของ ส.ส. แต่เรียกง่ายๆว่างบหาเสียง

ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี หรือผู้ที่มีอำนาจบารมี สามารถแปรญัตติเอางบประมาณไปลงในเขตเลือกตั้งได้ปีละนับร้อยล้านบาท ก่อให้เกิดการสมคบคิดทุจริตงาบเงินแผ่นดินระหว่าง ส.ส.กับผู้รับเหมา มีการร้องเรียน ป.ป.ช.กลายเป็นคดีที่ยืดเยื้อมาหลายปีก็ยังมีอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาจึงห้ามกระทำโดยเด็ดขาด

แต่อาจจะมีการลักลอบแบ่งเค้กกันอยู่โดยเฉพาะในบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ผู้มากด้วยบารมีท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับความขัดแย้งในพรรค ปฏิเสธว่าไม่มีกลุ่ม ไม่มีก๊วน ยืนยันว่าไม่มีการแบ่งข้าง “แต่ ส.ส.เหล่านั้นต้องการหาโครงการไปลงพื้นที่ และหางบประมาณไปช่วยดูแลประชาชนเท่านั้น”

จากคำกล่าวข้างต้นแสดงว่าในปัจจุบันพรรคการเมือง และ ส.ส.ยังยึดมั่นในประเพณีจัดสรรงบประมาณให้ ส.ส.นำไปลงในเขตเลือกตั้งใช่หรือไม่ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันถือเป็นความผิดร้ายแรง เขียนห้ามไว้ในมาตรา 144 ห้าม ส.ส.แปรญัตติหรือ “กระทำด้วยประการใดๆ” เพื่อมีส่วนในการใช้งบประมาณ

...

ส.ส.ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นว่า ส.ส.ผู้นั้นกระทำผิดจริง ให้พ้นจากความเป็น ส.ส. และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีกระทำเสียเอง หรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง เรื่องนี้จึงไม่ธรรมดา

แต่รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ส.ส.ผู้กระทำการด้วยวิธีการใดๆก็ตาม เพื่อให้ตนมีส่วนในการนำงบและประมาณ หรือโครงการลงพื้นที่ แม้แต่คณะรัฐมนตรีที่ผู้เห็นการกระทำแต่ไม่ยับยั้ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ การกระทำที่เรียกว่า “แบ่งเค้ก” ให้ ส.ส.จากเงินกู้มหาศาลจึงเป็นความผิดมหันตโทษ.