เงินกู้ 1 ล้านล้าน
หนี้สินก้อนใหญ่
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อนำไปใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19
รัฐบาลได้วางกรอบเอาไว้ 2 ส่วน คือ เยียวยา 6 แสนล้าน และฟื้นฟูอีก 4 แสนล้าน ด้วยตัวเลขเงินกู้ ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
วงเงินจำนวนนี้เมื่อรวมกับสถานะหนี้คงค้างของประเทศ 7 ล้านล้านบาท บวกกับหนี้ใหม่ก็จะอยู่ราว 8 ล้านล้านบาท
ทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 57.96% ของจีดีพีในปี 2564
ต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดเอาไว้ไม่ควรเกิน 60% ของจีดีพี พูดง่ายๆว่าต่ำกว่าเพียงไม่กี่จุดเท่านั้นถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่าใดนัก
อยู่ที่ว่าจะนำไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าแค่ไหนเท่านั้น
อีกทั้งยังคาดการณ์กันด้วยว่าเงินกู้จำนวนนี้ช่วยเหลือได้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น หรืออย่างเก่งก็ไม่เกิน 6 เดือน
ก็เลยคาบเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสที่จะต้องหยุดให้ได้หากเกิดรอบที่ 2 ตามมาก็มีหวังปั่นป่วนแน่
นั่นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคุมภาวะการแพร่ระบาดด้วยความรอบคอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า “เอาอยู่”
อย่างมาตรกรผ่อนปรน เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้จึงต้องระมัดระวังอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความไม่ประมาท
“การ์ดตก” เมื่อใดก็จะวนกลับมาที่เก่าและแก้ไขได้ยากขึ้น
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจนั้นมีความเชื่อมโยงไปทั่วโลกอันมิใช่ปัจจัยจากภายในประเทศเท่านั้น
ยิ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็เกิดปัญหาไม่ต่างกัน
...
การใช้เงินจึงต้องดำเนินการให้ถูกทิศถูกทางเพื่อให้เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การฟื้นตัวได้บ้าง แม้ยังไม่เต็มที่แต่ก็ต้องไม่ให้ทรุดหนักไปมากกว่านี้
ในรอยต่อนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นสำคัญ
ด้วยเม็ดเงินจำนวนมากนี้ย่อมเป็นที่จับจ้องกันเป็นอย่างมากว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลโกงกินกันอย่างที่ผ่านมา
ขนาดการเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเบื้องต้นก็ยังเกิดปัญหาอย่างนี้ได้แค่การแจกของด้วยเงินจำนวนไม่มากนัก
ก็ยังคิดไม่ซื่อหากินกันบนความทุกข์ยากของประชาชน
แน่นอนว่าเมื่อเปิดสภาสมัยสามัญตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.63 อย่างเป็นทางการ คือ สามารถใช้เวทีสภาเป็นที่ถกเถียงและตรวจสอบ ซึ่งฝ่ายค้านจองกฐินเอาไว้แล้ว
ว่าด้วย พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้ง 3 ฉบับ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน จึงต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชนให้เกิดความมั่นใจด้วยความโปร่งใส
รัฐบาลก็ต้องทำการบ้านด้วยการชี้แจงที่มาที่ไปและนำไปใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
“โปร่งใส” คือคำตอบสุดท้าย
ฝ่ายค้านก็ต้องตรวจสอบด้วยข้อมูลที่ชัดเจนชี้เป้าให้ตรงประเด็น
ทำให้สภาเป็นเวทีเพื่อหาทางออกให้ประเทศในท่ามกลางวิกฤติ.
“สายล่อฟ้า”