“ต้องขีดเส้นใต้ไว้เลย” กับมุมที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.ชื่อดัง เบื้องหลังเกมอำนาจโค่นระบอบทักษิณที่ออกมาวิเคราะห์แบบ “อ่านทะลุ” เกมเขย่าอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ
การเมืองในภาวะแบบนี้อันตรายมาก โดยธรรมชาติของนักการเมืองเมื่อได้เป็น ส.ส.ต้องจับกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง ส่วนหัวหน้ากลุ่มได้ผลตอบแทนด้วยตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเข้าไปหาผลประโยชน์ดูแลลูกก๊วน
กลุ่มรัฐมนตรี 4 กุมาร เข้ามาทำงาน ไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีฐาน ส.ส.รองรับ จึงไม่ทราบธรรมชาติความต้องการ ส.ส.เป็นจุดอ่อน มีโอกาสสูงอาจถูกผลักดันออกจากตำแหน่ง เมื่อวิกฤติโควิดผ่านพ้น
เว้นแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะไม่ยินยอม เพราะมีอำนาจต่อรองสูง ด้วยเหตุในพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯได้เพียงคนเดียว
หากเบื่อหน่าย ถอดใจลาออก ต้องเฟ้นหานายกฯคนใหม่ หรือหากยุบสภา พลังประชารัฐก็แตกเป็นเสี่ยง
นี่แหละเซียนตัวจริงหมากรุกกระดานอำนาจประเทศไทย
เอาเป็นว่า ณ วันนี้ “บิ๊กตู่” คือผู้ถือ “ดุลอำนาจ” คนเดียวที่ชี้ขาดการอยู่หรือไปของรัฐบาลผสมพลังประชารัฐ เลยจุด “ถ่วงดุลอำนาจ” พ้นเงื่อนไขพี่น้อง 3 ป.–2 ป. ไปแล้ว
แนวโน้มนายกฯมีสิทธิเลือก “ตัวถ่วง” หรือ “ตัวช่วย” ท่ามกลางการเมืองห่วยๆ ไม่ใช่ “old normal” สูตรการเมืองโบราณในค่ายพลังประชารัฐ แต่มันหมายรวมถึง “รัฐบาลผสม” เรือเหล็กที่เต็มไปด้วยสนิมเนื้อใน ทั้งสไตล์ “เกรียนเซราะกราว” โชว์เก๋าโชว์เฮี้ยว ทั้งมาดของ “รัฐอิสระ” ที่จ้องขี่คอ ฉวยเหลี่ยมเกมการเมืองเหนือกว่าตลอดเวลา
...
เล่นเกมชิงเหลี่ยมกันมาถึงจุดเสี่ยงความเสียหายระดับโลก
กับปมสลับซับซ้อนว่าด้วย CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans–Pacific Partnership) หรือ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”
แค่ชื่อยังจำยาก แม้แต่ตัวย่อยังยาวเหยียด นั่นก็ไม่แปลกที่ผู้คนในสังคมหรือแม้แต่สื่อมวลชนบางส่วนจะเข้าใจแค่ว่าเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการเสี่ยงทำให้ประเทศไทยเสียสิทธิประโยชน์ เอ็นจีโอต่อต้านหนัก เพราะอนาคตเกษตรกรไทยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากต่างชาติ
บางส่วนเห็นตัวย่อ CP พานหวาดระแวงไปถึงการผูกขาดของกลุ่มทุนยักษ์
ตามจังหวะตีปี๊บเกม “หักดิบ” ที่มีการแห่กระแส ชื่นชมยินดีกับการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ยี่ห้อประชาธิปัตย์ ตัดสินใจถอนวาระ CPTPP ก่อนเข้า ครม.นาทีสุดท้าย
ทำให้ความพยายามผลักดันมา 4-5 ปีของทีมไทยแลนด์สะดุดหัวทิ่ม
ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้หยิบมาเป็นวาระหารือเร่งด่วน สะท้อนสถานการณ์ซีเรียส
ล้อกับความจริงอีกด้าน จากมุมของ “จอมข้อมูล” ระดับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่วิเคราะห์เบื้องหลังปม CPTPP ผ่านรายการ “Sondhitalk: ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง” ฟันธงแบบตีแสกหน้า
เป็นเรื่องการเมือง ลีลาของ “ทาร์ซานโหนกระแส”
ที่แน่ๆเป็นภารกิจในหน้าที่ของนายจุรินทร์ในฐานะ รมว.พาณิชย์แท้ๆ แต่ตามสไตล์คนยี่ห้อประชาธิปัตย์ที่ไม่ถนัดแก้ไขปัญหา โยนภาระให้คนอื่น โดยเฉพาะคนที่น่าเห็นใจที่สุดคือข้าราชการฝ่ายปฏิบัติอย่าง
อธิบดีกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในสังกัดของนายจุรินทร์เอง ที่ทำงานหนัก ปั้นงานยากจนเป็นรูปเป็นร่าง แต่โดนเบรกหน้าหงาย
ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริง ยังเป็นแค่การขออนุมัติจาก ครม.ในการเข้าสู่โต๊ะเจรจา
เป็นยุทธศาสตร์ของการรู้เขา รู้เรา เพื่อให้มีช่องทางต่อรองเรื่องสิทธิประโยชน์ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์พืช สิทธิบัตรยา เปรียบเทียบข้อได้เสีย โดยที่ประเทศไทยเรายังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP แต่อย่างใด
ไม่ใช่แค่จอมข้อมูลอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” เท่านั้น ในมุมใกล้เคียงกันฟังจาก “กาแฟดำ”
นายสุทธิชัย หยุ่น ที่จัด “Suthichai live” ในหัวข้อ “CPTPP : ไทยควรร่วมหรือไม่?” ที่มีการเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาถกข้อมูลเชิงลึก ในมุมเชิงลบ เชิงบวก
ลงรายละเอียดกันรอบด้าน
มุมของ “คนทำการบ้าน” ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่ปั่นภาพสร้างกระแสจนน่ากลัว
ตรงกันข้ามกับบทหักดิบของนายจุรินทร์ ตั้งท่าถอนยวง CPTPP
ก่อแรงกระเพื่อมแน่ๆ ในมุมของเงินลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ที่เป็นหัวหอกของ CPTPP แทนสหรัฐอเมริกา จะลังเลการลงทุนในโครงการอีอีซีในประเทศไทย เพราะมีทางเลือกทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย
ไทยสูญเสียสถานะศูนย์กลางการลงทุนอาเซียนโดยอัตโนมัติ
และนั่นจะยิ่งหนักหนาสาหัสกับภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเมืองหลังวิกฤตการณ์โควิด–19 ที่ต่อให้อารยประเทศ ระบบการเมืองนิ่ง นักการเมืองมีคุณภาพ มีสปิริตคิดเพื่อประเทศชาติ ยังเหนื่อย
เทียบกับรัฐบาลผสมของไทยนักการเมืองทำงานไม่เป็นเน้นแต่เล่นเกม.
ทีมข่าวการเมือง