การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ครั้งแรกผ่านไปนานพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งได้รับทราบผลการประชุมดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้และเห็นว่าน่าจะหยิบเอาบางเรื่องราวมาให้รับรู้ในหมู่ผู้สนใจในงานส่งเสริมจริยธรรมสำหรับคนของรัฐ

ในเรื่องของการจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับหลักการและวิธีการจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรม รวมทั้งการกำหนดกระบวนการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รายละเอียดเป็นฉันใดเชื่อว่าทางสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการของ ก.ม.จ. คงจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป

ที่น่าสนใจคือข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการบางประเด็นดังนี้

1) โดยที่องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม มีหน้าที่ต้องดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน นับแต่วันประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำ ประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ... ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีขั้นตอนการดำเนินการที่ล้าช้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการจัดทำประมวลจริยธรรม จึงเห็นควรให้ฝ่ายเลขานุการ ศึกษาแนวทางการกลั่นกรองประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมตามที่ ก.ม.จ. ได้ให้ความเห็นชอบ เพื่อที่องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมจะได้ประกาศใช้ประมวลผลจริยธรรมได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดไว้

2) ควรกำหนดหน้าที่และอำนาจของกลุ่มงานจริยธรรมหรือส่วนงานที่มีหน้าที่และภารกิจในด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล หรือที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ให้มีหน้าที่ดำเนินการรับข้อร้องเรียนเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรม รวมถึงการรับข้อกล่าวหาชม และให้มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการในเชิงบวกจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานมีพฤติกรรมเป็นแบบอย่างที่ดี

...

3) ควรพิจารณาถ้อยคำในร่างหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมให้มีความรัดกุม สอดคล้องกับถ้อยคำตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 โดยไม่ให้มีช่องว่างทางกฎหมายที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจในสาระสำคัญคลาดเคลื่อน

อีกเรื่องคือการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่ ก.ม.จ.มอบหมายที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่ ก.ม.จ.มอบหมาย จำนวน 2 คณะ ได้แก่

1) คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรม ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางหรือมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานทางจริยธรรม การดำเนินกระบวนการรักษาจริยธรรม มาตรการการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจ รวมถึงกลไกและการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมเพื่อให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้บังคับบัญชานำไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล

2) คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม และประเมินผลตามมาตรฐานทางจริยธรรม ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม เสนอความเห็นเกี่ยวกับการประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ ก.ม.จ. เกี่ยวกับการจัดทำสรุปรายงานผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม การตรวจสอบรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี

ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.จัดทำรายละเอียดองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ หน้าที่และอำนาจ ตามแนวทางที่ ก.ม.จ.เห็นชอบและเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการโดยเร็วต่อไป.


“ซี.12”