สถานการณ์ “โควิด-19” ยังน่ากังวล...ย้ำหลักใหญ่สิทธิประโยชน์ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ตรวจหาโควิด-19 ฟรีทุกรายทุกสิทธิรักษาตามที่แพทย์เห็นถึงความจำเป็น ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. บอกว่า สปสช.จะให้สิทธิ “ตรวจคัดกรอง” แก่ผู้ที่เข้าเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด หรือผู้ที่มีประวัติความเสี่ยง ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้ใช้งบประมาณจาก “กองทุนตำบล” มาสนับสนุนภารกิจยับยั้งโรค

อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการใช้งบ “สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP)” เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปูพรม “คัดกรองเชิงรุก (Active case finding)” ในจังหวัดเป้าหมายตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

เพื่อให้เมื่อพบ “ผู้ติดเชื้อ” แล้วจะสามารถ “ควบคุม” ได้

“เรามีเป้าหมายในพื้นที่คลัสเตอร์หลายจังหวัดซึ่งเป็นเขตชุมชนใหญ่ๆ หากเราคัดกรองชุมชนเหล่านี้ได้จนครบ เมื่อถึงเวลาที่มาตรการเริ่มผ่อนคลายจะได้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องใช้ความพยายามในการเฝ้าระวัง รวมถึงมาตรการต่างๆที่ยังมีอยู่” นพ.ศักดิ์ชัย ว่า

เพื่อความกระจ่างเรื่องการ “ตรวจคัดกรอง” ย้ำว่า...การตรวจคัดกรองกลุ่มผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ (lab) ถือว่าเป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น สปสช.จะสนับสนุนค่าตรวจให้แก่ประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ทั้ง บัตรทอง ประกันสังคม และ สวัสดิการข้าราชการ

...

ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามที่ สธ.กำหนด และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดโรคโควิด-19 เพราะมีประวัติความเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน สปสช.จะจ่ายค่าบริการให้ แต่หากไม่ได้เป็นไข้หรือไม่มีประวัติความเสี่ยงใดๆ...ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์

แนะนำว่า...ไม่ควรไปโรงพยาบาลเพราะจะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

พลิกแฟ้มข้อมูลการเบิกจ่ายในระบบกองทุนบัตรทองเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา...หน่วยบริการทั่วประเทศได้เริ่มทยอยส่งเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายแล้ว รวมทั้งสิ้น 143.9 ล้านบาท...เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง... ตรวจทางห้องปฏิบัติการ...ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย

การเบิกจ่ายค่าตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการมี 33,731 ครั้ง เบิกจ่ายเป็นเงิน 119.2 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 24.7 ล้านบาท

ในระดับนโยบาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนเต็ม ที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือร่วมใจป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 จนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ถือว่า...“ประเทศไทย” ควบคุมโรคได้

ผู้ป่วยร้อยละ 90 หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว และในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2563 ได้เห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ โดยเพิ่มอัตราการตรวจจาก 2,000 คน...เป็น 5,000 คนต่อประชากรล้านคน ซึ่งจะทำให้มีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและตรวจพบผู้ป่วยได้เร็ว

กำหนดกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ หนึ่ง...กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สอง...ผู้ต้องขังรายใหม่ สาม...กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ และพนักงาน สี่...กลุ่มอื่นๆ ตามสถานการณ์ของพื้นที่

ประเด็นสำคัญมีว่า...ต้องให้ผ่านการพิจารณาของ “คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด” หรือ “คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร”

กิจกรรมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เขตเทศบาลนครนนทบุรี จำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 และสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี รวมถึง...ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2563

กรุงเทพมหานคร รวมถึง ปทุมธานี นนทบุรี ยังเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่รัฐบาลประกาศให้ยังต้องคุมเข้ม ไม่สามารถคลายล็อกดาวน์ได้ เนื่องจากแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงแต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในจังหวัดหลักเหล่านี้ที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ สปสช.จึงพยายามให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เป็นคลัสเตอร์บางส่วนในการป้องกัน

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เราทำงานร่วมกับ สปสช.และเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ...เอกชน ในการลงไปช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยใช้กระบวนการทางห้องปฏิบัติการตรวจยืนยัน ด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและลำคอ

หรือ...Nasopharyngeal swab ร่วมกับ Throat swab ไปวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของไวรัสควบคู่กับการหายีนเจ้าบ้าน ที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำของผลลัพธ์ได้

กิจกรรมบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี และสถานกักขังกลางปทุมธานี ได้มีการคัดกรองประชากรใน 3 กลุ่ม คือ...กลุ่มคนในชุมชนที่อาศัยบริเวณท่าน้ำนนทบุรี กลุ่มคนไร้บ้าน และผู้ต้องขังในสถานกักขังกลาง

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ “คลินิกอบอุ่น” จะคัดกรองไข้ พร้อมแจกจ่ายยา หน้ากาก เจลล้างมือ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับการเก็บสิ่งส่งตรวจเข้าสู่แล็บเพื่อตรวจหาเชื้อต่อไป ขณะเดียวกันได้ มีเครือข่ายจิตอาสาและมูลนิธิมาดูแลแจกจ่ายอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ของการตรวจนั้นจะถูกรายงานให้กับ สปสช.ว่ามีการพบโรคหรือไม่ อย่างไร

เป้าหมายที่เราเลือกอาจลงไปในกลุ่มใหญ่ๆ โดยเฉพาะตอนนี้ที่ “รัฐบาล” กำลังจะหาทางคลาย “ล็อกดาวน์” บางอย่าง เราจึงอาจต้องมุ่งเป้าไปกับกลุ่มคนบางส่วน เช่น ผู้ให้บริการ ร้านอาหาร ช่างตัดผม ช่างเสริมสวย ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องให้บริการกับคนจำนวนมาก เมื่อได้รับการคัดกรองแล้วว่าเขาไม่ติดเชื้อก็จะเกิดความสบายใจ

“นี่เป็นส่วนที่เราจะต้องทำในพื้นที่ กทม.และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ที่คิดว่า ยังไม่สามารถคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมดได้” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม ว่า

นอกจากนี้ ทางคณะยังได้มีการร่วมกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค นำทีมเทคนิคการแพทย์เข้าไปช่วยเก็บสิ่งส่งตรวจต่างๆส่งห้องปฏิบัติการ ในจังหวัดที่กำลังจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ เช่น นครปฐม ซึ่งขณะนี้กำลังหารือการทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ในการลงไปค้นหากลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ โดยมี สปสช.ช่วยสนับสนุนและเบิกจ่ายตามสิทธิต่างๆ

ขณะเดียวกัน ยังมีการช่วยตรวจยืนยันในผู้ที่ถูก State Quarantine เช่น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและต้องถูกกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจมีการกักอยู่ในโรงแรม หรือตามสถานที่ต่างๆที่ถูกจัดไว้

นับรวมไปถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อมีมาตรการจำกัดพื้นที่การควบคุมป้องกันอย่างไร และ...หากดำเนินการทั้งประเทศ อาจต้องมีความร่วมมือจากภาครัฐในส่วนอื่นๆต่อไป

“ตอนนี้ยิ่งเราปิดล็อกนานเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยิ่งแย่ แต่คำถามตอนนี้คือเราจะเปิดที่บริการส่วนไหนก่อน ฉะนั้นเราอาจต้องเปิดในบริการที่ควบคุมได้ โดยควบคุมที่ผู้ให้บริการ อย่างร้านอาหาร ช่างทำผม หรือบริการต่างๆ ที่ต้องเข้าถึงคนเยอะ ถ้าคนเหล่านี้ได้ผ่านการคัดกรอง อย่างน้อยผู้ที่เข้ารับบริการก็ไม่น่าสัมผัสกับเชื้อได้...”

ข้อมูลสำคัญนี้จะช่วยวางแผนมาตรการคลาย...“ล็อกดาวน์” เพื่อพยุง “เศรษฐกิจ” ให้ดีขึ้น.